“ยึดอำนาจพม่า”คล้าย”3ลุง”
การ ”ยึดอำนาจพม่า” เช้าตรู่วันนี้ (1ก.พ.64) ถึงจะไม่เกี่ยวตรงๆ เพราะเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองพม่าที่กรุ่นๆ มาแรมเดือนจนมาพีค ช่วงสัปดาห์กับข่าวลือ ”ยึดอำนาจ” แต่ ”ขุนทหารไทย” เจ้าตำรับการยึดอำนาจทำ ”รัฐประหาร” เที่ยวล่าสุดเมื่อ ปี2564 ยี่ห้อ ”3ป.” ”บิ๊กป้อม-ป๊อก-ประยุทธ” “ศูนย์กลางอำนาจ” รัฐไทย ก็มิวายตกเป็นเป้าจาก ”ฝ่ายตรงข้าม” ทางการเมืองในประเทศไทยโจมตีลากดึงให้เข้ามาเกี่ยว และถูกสื่อถามจนได้ โดยเฉพาะปฏิกิริยาที่กลุ่ม ”โต้โต้” แห่ง ”วีโว่” ออกมาแอคชั่นที่ขนานคู่ไปกับ การมีม็อบ ”คนพม่า” มาโผล่ชูป้ายและภาพของ ”อองซาน ซูจี” ที่ถูกฝ่ายทหารยึดอำนาจ และจับกุมตัวไปพร้อมแกนนำรัฐรัฐบาลคนอื่นๆ ที่หน้าสถานทูตพม่าในประเทศไทย
ที่ทำให้ ”ลุงป้อม” ได้เพียงแค่ ตีกรรเชียงไปเรื่อย แบบที่ตอบว่าเป็นเรื่องของพม่า เป็นเรื่องของ ”ม็อบ” อย่ามาถามตน เพราะไม่รู้เรื่อง ส่วนการไปประท้วงที่สถานทูตเมียนมา จะทำให้กระทบความสัมพันธ์หรือไม่ คงไม่ เพราะเป็นเรื่องของสถานทูต พร้อมเมินว่า ”3ป.” จะโดนโดน ”ตีวัวกระทบคราด” ในฐานะที่ยึดอำนาจเข้ามา เช่นกัน โดยบอกว่าคิดกันไปเองไม่เกี่ยวอะไรกับเหตุการณ์ในไทย ก่อนยืนยัน ว่ายังไม่มีนักการเมืองเมียนมาหนีข้ามแดนเข้ามาไทย และปัดแสดงจุดยืน ”รัฐบาลไทย” โดยบอกว่าต้องดูก่อน ขณะที่เมื่อหันไปดูท่าทีของกองทัพ มีการออกมาของกองทัพบกโดยรองโฆษกทบ. ที่ตอบข้อถามเรื่องเดียวกันรวมถึงการที่พม่ามีการปิดด่านชายแดน ว่า กำลังทหารไทยยังคุมเข้มชายแดน ไทย-เมียนมา ดูแลด้านความมั่นคง ตามเดิม เพื่อสกัดสิ่งผิดกฎหมาย ป้องกัน โควิดฯ สกัดการลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย
เรียกว่าสถานการณ์ ”ยึดอำนาจ” ในพม่าในรอบหลายสิบปีหนนี้ในฐานะ ”เพื่อนบ้าน” ชายแดนติดกัน หากเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งปกติ อาจจะคนละอารมณ์กับ ”รัฐบาลทหาร” ที่ทราบกันดีถึงความสนิทสนมระหว่าง ”ผู้นำยึดอำนาจ” คือ ”พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เมียนมา ที่อยู่ในอำนาจ มา 10 ปี ด้วย วัย 64 ปี กับ ”3ป.” ”ศูนย์อำนาจ” ของไทย หรือแม้กระทั่ง ใกล้ชิดนับถือ ”พล.อ.เปรม” เป็น ”บิดาบุญธรรม” โดย ”มิน อ่อง หล่าย” ถูกจับตามาตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเขาจะมีบทบาทนำในพม่า ซึ่งครั้งนี้ เขามาเป็นผู้นำกองทัพเข้ายึดอำนาจ ”นางอองซาน ซูจี” โดยสกัดการประชุมสภาวันนี้ ที่จะมีการรับรองผลการเลือกตั้ง หลังกองทัพเคยออกมาเตือนให้รัฐบาล ตรวจสอบการนับคะแนน เลือกตั้ง หลังมีรายงานการทุจริต กว่า 10 ล้านเสียง และให้เลื่อนการประชุมสภาออกไป แต่ รัฐบาลเพิกเฉย อีกทั้ง ยังมีม็อบและการประท้วงเกิดขึ้น
โดยสถานการณ์พม่าวันนี้ มีปฏิกิริยาจากทั่วโลก โดยเฉพาะ ”สหรัฐ-ออสเตรเลีย” ที่แสดงท่าทีคัดค้านการยึดอำนาจ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีท่าทีจากรัฐบาล นอกจากการแสดงความประหลาดใจของรัฐมนตรีในรัฐบาล ขณะที่ ”นักวิชาการ” หลายท่านประเมินว่าความเปลี่ยนแลงล้มกระดานอำนาจในพม่า โยง ”ผลประโยชน์” ในภูมิภาคนี้ที่ยังมีภาพ ”สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐ – จีน ผ่านหลายประเทศ ที่พม่าเองก็มี ”ช่องถ่าง” ระหว่าง ”อำนาจทุนเก่า” ที่เชื่อมโยงกองทัพที่ปัจจุบันมี ”ทหารยุคใหม่” กับ ”ทหารยุคเก่า” และมีการวิเคราะห์ว่า กองทัพพม่ารัฐประหารเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเขียน ที่ให้อำนาจกองทัพในการแทรกแซงฝ่ายบริหาร กำลังจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยรัฐบาลที่ชนะเลือกตั้ง
@แต่ก็น่าสนใจกับการวิเคราะห์ของ “ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ดูท่วงทำนองแล้ววิธีการของกองทัพพม่าของ ”มินอ่องหล่าย” มีหลายจุดที่กลับคลับคล้าย ”3ป.” ของไทยไม่น้อย ที่ว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ กองทัพไม่ได้ใช้คำว่ายึดอำนาจ เพราะในรัฐธรรมนูญให้อำนาจกองทัพทำการ ”ยึดอำนาจ” โดยไม่ต้องใช้คำว่า ”รัฐประหาร” ถ้าดูใน รธน.ปี 2008 อนุญาตให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ state of emergency อยู่ในมาตรา 417 ก็จะมีการถ่ายโอนอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ไปให้กับ commander in chief ในที่นี้ก็คือ ” มินอ่องหล่าย” หรือ ผบ.สูงสุด มีอำนาจในการปกครองประเทศ ดังนั้น หนึ่งปีนับจากวันนี้เป็นต้นไป เมียนมา จะอยู่ภายใต้กองทัพ และรัฐธรรมนูญยังอนุญาตให้ขยายได้ด้วยเมื่อครบเวลา 1 ปี ในครั้งนี้เราจึงเรียกอย่างไม่เป็นทางการได้ว่า self-coup หรือการรัฐประหารโดยกองทัพใช้อำนาจประกาศ
@ส่วนสาเหตุพบว่า มีการประกาศตั้งแต่วีคที่แล้วว่าไม่สบายใจในการเลือกตั้ง ที่ผลจากการที่คนหันมาเลือกพรรค NLD กันถล่มทลาย มากกว่าปี 2015 เมื่อหลังผลเลือกตั้งออกมา วันนี้จะเป็นวันประชุมสภา เพื่อถ่ายโอนอำนาจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทหารตั้งคำถาม หรือพยายามจะจัดให้มีการประชุมพิเศษ แต่สภาตอนนั้นไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. “กองทัพ” จึงใช้วิธีรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญเสียเลย ส่วนการเมืองเมียนมา กลับสู่วังวนเดิมหรือไม่ ”ผศ.ดร.นฤมล” ไม่แน่ใจ เพราะหนนี้ใช้วิธีไม่เอารถถังออกมา แต่ใช้คำว่า ”ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” อาจเรียกได้ว่า เป็นการรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะเมียนมาเข้าสู่เศรษฐกิจระบบโลกแล้ว ยากที่จะกลับไปเป็นแบบเดิม และไม่ง่ายเลยที่จะกลับไปปิดประเทศจึงพยายามใช้กลไกการอธิบาย เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องรองประธานาธิบดีเซ็นมอบอำนาจทำรัฐประหารอย่างที่เห็น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news