ข่าวต้นชั่วโมง 14.00 น.
สรท. คาดส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวได้ 10-12% เศรษฐกิจโลกฟื้น ห่วงโควิด-19 ยังรุนแรง ล็อกดาวน์กระทบ
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ทิศทางการส่งออกในปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นจากการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศที่แข็งแกร่ง หลังมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามปกติ
ทั้งนี้ การส่งออกในปีนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายตัว 10-12% หากส่งออกปีนี้จะขยายตัว 10% จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 19,926 ล้านดอลลาร์ แต่หากจะให้ขยายตัว 11% จะต้องมีมูลค่าเฉลี่ย 20,389 ล้านดอลลาร์ และขยายตัว 12% จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,852 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ อาจจะต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดการแพร่ระบาดในประเทศ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งจะส่งผลเศรษฐกิจในภาพรวม การติดเชื้อในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมกระทบต่อกำลังการผลิต และค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขภายในโรงงาน (Bubble & Seal) และเครื่องมือชุดตรวจโรค (ATK) ค่อนข้างสูงและยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากรัฐไม่สามารถดำเนินการแก้ไขหรือสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนได้ จะส่งผลกระทบให้ภาคการผลิตหยุดชะงักหรือไม่สามารถทำการผลิตได้อย่างเต็มที่ ส่งผลต่อการส่งมอบสินค้าและการส่งออกไม่สามารถขยายตัวได้ 10-12% ตามที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ขอให้รัฐช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 1,000 บาท/เตียง สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เริ่มเข้ามาตรการ Factory Quarantine (FQ) หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) ในช่วงตั้งต้นของการดำเนินมาตรการ (One Time Cost) 2) สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ทางสาธารณสุข อาทิ ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 หรือ Antigen Test Kit (ATK) ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีพนักงานบางส่วนติดเชื้อ และต้องมีการตรวจติดตามพนักงานอื่นที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นระยะ อย่างน้อย 7-14 วันต่อครั้ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะ SME รวมถึงขอให้มีการควบคุมราคาชุดตรวจ ATK ให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม 3) เร่งฉีดวัคซีนให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกให้ครอบคลุมโดยเร็ว เพื่อช่วยให้แรงงานลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและมีรายได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยรักษากำลังซื้อของครัวเรือนทั่วประเทศและพยุงเศรษฐกิจในประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news