จับตา! มวลน้ำเพิ่มในเขื่อนป่าสักฯ ต้องระบายน้ำออก วันนี้ ส่งผล เขื่อนพระราม 6 แม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำเพิ่มอาจกระทบบ้านเรือน ประชาชนริมแม่น้ำ
นายทรงพล สวยสม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนนทบุรี เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.นนทบุรี กรมชลประทาน ยังคงระบายน้ำ ออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 2700 ถึง 2800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จากเขื่อนพระราม 6 เขื่อนป่าสัก ปริมาณน้ำที่ผ่านช่วงบางไทร อยู่ที่ประมาณ 2600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พื้นที่จังหวัดนนทบุรี ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังและผลกระทบในพื้นที่ต่ำริมตลิ่งอาจจะกินพื้นที่เพิ่มมากขึ้นหรือระยะเวลายาวนานขึ้นของในแต่ละพื้นที่
จากการประชุมร่วมกับกรมชลประทาน ทราบว่า สถานการณ์ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น มีแนวโน้มว่าจะต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพราะขณะนี้ เขื่อนป่าสัก ใกล้เต็มแล้ว ประกอบกับมวลน้ำมาจากเพชรบูรณ์-หล่มสัก ซึ่งผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะส่งผลมายังเขื่อนพระราม 6 มารวมที่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่จ.พระนครศรีอยุธยา ก็จะเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และจะส่งผลกระทบให้น้ำที่ผ่านบางไทร อาจจะมากถึง 3,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งบริเวณบางไทร ความสามารถในการระบายน้ำอยู่ที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยมวลน้ำตรงนี้ ก็จะผ่าน จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี ทั้งหมด
ส่วนแนวคันกั้นน้ำ ในพื้นที่ จ.นนทบุรีเฉลี่ยอยู่ที่ 3- 4 เมตร ทางด้านบนและไล่ลงมาถึงกรุงเทพฯอยู่ที่ประมาณ 2.80 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ก็ยังถือว่าแนวคันกั้นน้ำยังไม่น่าเป็นห่วง แต่ก็ยังมีจุดฟันหลอ ในพื้นที่อ.ปากเกร็ด และ อ.เมือง บางส่วนที่เป็นจุดฟันหลอ ยังไม่มีเขื่อนกั้นน้ำ อาจจะมีผลกระทบต่อบ้านเรือนราษฎรริมแม่น้ำบ้าง
นอกจากนี้ ได้รับการแจ้งเตือนจาก กรมอุตุนิยมวิทยา ว่าช่วงต้นเดือนตุลาคม นี้ จะมีพายุก่อตัวที่ประเทศฟิลิปปินส์อีก 1 ลูก ซึ่งตามการพยากรณ์คาดว่า พายุดังกล่าวจะผ่านเข้ามาประเทศไทยเหมือนเดิม โดยเข้าทางดานัง ประเทศเวียดนาม และสลายตัวที่ภาคอีสานของไทย แต่แม้จะสลายตัว ก็จะได้รับผลกระทบ จากหางพายุ เป็นร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้ ฝนตกหนักเพิ่มขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง แต่ในระยะนี้ ที่ฝนทิ้งช่วง หากสามารถเร่งระบายน้ำได้ก็จะระบายน้ำออกไปก่อนในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิม ดีกว่าหากปล่อยให้ฝนลูกใหญ่เข้ามาเป็นมวลน้ำก้อนใหญ่ อาจจะส่งผลกระทบได้เยอะกว่า จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำมากขึ้นกว่าปกติอีกเล็กน้อย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news