Home
|
คลิปข่าวต้นชั่วโมง

ข่าวต้นชั่วโมง 16.00 น.

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน จัดส่งวัคซีน 4 จังหวัดชายแดนใต้ให้มากกว่าที่กำหนด- หารือแผนฉีดวัคซีนไข้ AZเข็ม1 +Pfizerเข็ม 2 พรุ่งนี้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ว่า สถานการณ์ระบาดภาคใต้ขณะนี้ทรงตัว ไม่ได้พุ่งขึ้นเหมือนที่หลายคนกังวลกัน ยังเป็นการระบาดในชุมชน ซึ่งจะเหมือนกับที่เคยระบาดในกรุงเทพมหานคร(กทม.) โดยเจ้าหน้าที่มีทีมเคลื่อนที่เร็วหรือ CCRT ลงพื้นที่เพื่อช่วยควบคุมโรค ตรวจคัดกรอง ATK และฉีดวัคซีนในชุมชน โดยทีม CCRT ก็ได้กลับลงไปช่วยพื้นที่ภาคใต้แล้ว ทั้งนี้ สายพันธุ์หลักที่ระบาดยังเป็นเดลต้า ซึ่งเราได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์มาจากต่างประเทศ ก็จะส่งไปช่วยในพื้นที่ด้วย
ส่วนเรื่องการจัดสรรวัคซีน ให้กับพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ทาง ศบค.มีแผนให้จัดส่งไปจำนวน 1,495,400 โดส ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้ส่งลงไป 2,085,668 โดส ซึ่งมากกว่าแผนถึงกว่า 5 แสนโดส ทำการฉีดแล้ว 2,256,022 โดส โดยจำนวนนี้มีวัคซีนซิโนฟาร์มอีกกว่า 2 แสนโดสพร้อมกับย้ำว่า ทุกคนจะได้ฉีดตามแผนในสิ้นปี 2564

ขณะที่ การฉีดวัคซีนไขว้ “เข็มที่ 1 เป็นแอสตร้าเซนเนกา และเข็ม 2 เป็นไฟเซอร์” อยู่ในแผนของกระทรวงสาธารณสุขโดยจะสามารถดำเนินการได้ แต่พรุ่งนี้ จะมีการนำเข้าหารือในที่ประชุมอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อให้การรับรองด้วย

อธิบดีกรมการแพทย์ คาด ไทยได้ยาโมลนูพิราเวียร์ ธ.ค. นี้ ใช้กับกลุ่มปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเท่านั้น

วันนี้ (6 ต.ค. 64) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวถึงประเด็นความคืบหน้ายาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ผ่าน Facebook Live กระทรวงสาธารณสุข ว่า ข้อมูลเบื้องต้นของยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัส ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เกือบทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่ขณะนี้

โดยใช้ชื่อว่า MOVE-OUT Trail สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย – ปานกลาง และยังไม่ได้รับวัคซีน โดยให้ยาภายในระยะเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่เริ่มมีอาการ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงอย่างน้อย 1 ปัจจัย ได้แก่ โรคอ้วน อายุมากกว่า 60 ปี เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง ร่วมกับอาการที่ไม่รุนแรง

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์เบื้องต้น (interim analysis) จำนวน 775 คน ได้รับยาจริง 385 คน ยาหลอก 377 คน โดยคนไข้ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 800 mg วันละ 2 เวลา (เช้า – เย็น) เป็นระยะเวลา 5 วัน พบไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาจริง แต่เสียชีวิตในกลุ่มผู้ให้ยาหลอก ถือว่าลดความเสี่ยงการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิต ภายใน 29 วัน ประมาณ 50%

สำหรับแผนการดำเนินงานขณะนี้ บริษัท merck ที่ผลิตได้มีการยื่นขอรับรองจากจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาต้านโควิด-19 ชนิดเม็ดตัวแรกที่ได้รับรองจากสหรัฐอเมริกา โดยตั้งเป้าผลิตให้ได้สำหรับ 10 ล้านคนภายในปีนี้ ทั้งนี้ merck ยังมีแผนทำสัญญากับฐานการผลิตยาหลายแห่งในประเทศอินเดีย เพื่อให้ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ที่มีราคาถูกให้กับประเทศที่มีรายได้น้อย – ปานกลาง ส่วนราคาที่จะขายให้ประเทศไทยขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

สำหรับโครงการ move-ahead study ที่กรมการแพทย์ร่วมการวิจัยยาป้องกันโควิด-19 กับ MSD มีการศึกษาวิจัยในหลายประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมกับ sites ต่าง ๆ ทั้งหมด 5 รพ. โดยรพ.ราชวิธี ของกรมการแพทย์เป็น 1 ในนั้นด้วย โดยการวิจัยนี้จะเป็นการศึกษากับผู้ที่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อโดยตรง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คาดว่าจะเริ่มทำการวิจัยได้ต้นเดือนธ.ค. นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ไทยได้ร่างสัญญาซื้อขายยาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์แล้วเสร็จไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา คาดว่าอาจจะขึ้นทะเบียนในประเทศไทยประมาณปลายเดือนพ.ย. และอาจได้รับยาภายในเดือนธ.ค. 64

ทั้งนี้ เน้นย้ำว่ายาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์สามารถใช้ได้กับกลุ่มอาการน้อย – ปานกลางและควรเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเท่านั้น โดยยังไม่ควรใช้กับสตรีมีครรภ์และเด็ก ซึ่งยังต้องรอดูผลการศึกษาวิจัยต่อไปก่อน

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube