ข่าวต้นชั่วโมง 14.00 น.
ไทยพบโอไมครอนแล้วกว่าหมื่นราย ผู้ป่วยอาการหนัก-เสียชีวิต ยังคงเป็นเดลตา คาดปลายเดือน ม.ค. การระบาดจะเป็นโอไมครอนทั้งหมด
วันนี้ (21 ม.ค. 65) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการณ์ความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ พบสายพันธุ์โอไมครอนในไทยแล้วกว่า 10,721 หมื่นราย โดยพบมากสุดในกรุงเทพมหานคร โดยจากการสุ่มตรวจระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค. 2565 ในกลุ่มผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์โอไมครอนแล้วกว่า 90% ในขณะที่กลุ่มคนทั่วไป พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอน 80% เป็นสายพันธุ์เดลตาอีก 20% แต่ที่น่าสังเกตคือในกลุ่มของผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต พบสายพันธุ์เดลตากว่า 30% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย จึงเป็นการพิสูจน์ว่าสายพันธุ์เดลตาทำให้เกิดอาการที่รุนแรงและชีวิตมากกว่าสายพันธุ์โอไมครอน นอกจากนี้ในกลุ่มของผู้ที่ติดเชื้อซ้ำจากการตรวจทั้ง 8 ราย พบว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอนทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า ภูมิคุ้มกันจากสายพันธุ์อื่นๆ ไม่สามารถกันสายพันธุ์โอไมครอนได้ ต่างจากสายพันธุ์เดลต้าที่มักจะไม่ติดเชื้อซ้ำ
ทั้งนี้ การระบาดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งพบในกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ประมาณ 96.9% และติดเชื้อในประเทศพบเป็นสายพันธุ์โอไมครอน 80.4% สำหรับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตยังพบสัดส่วนของสายพันธุ์เดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มทั่วไป สำหรับกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเป็นส่วนใหญ่แต่ยังพบการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่บ้าง ส่วนกลุ่มที่ติดเชื้อซ้ำ ทุกรายเป็นสายพันธุ์โอไมครอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าปลายเดือนมกราคมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์โอไมครอนเกือบทั้งหมด
นพ. ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ยังคงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 แบบถอดรหัสพันธุกรรมต่อไป ซึ่งอาจจะตรวจลดลงในสองถึงสามสัปดาห์ข้างหน้า แต่ถึงอย่างไรก็ยังจำเป็นต้องทำเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศ รวมทั้งขอเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ กรณีชุดตรวจ ATK ที่ตรวจแล้วพบสายพันธุ์ได้นั้นไม่มีอยู่จริง เนื่องจากทุกยี่ห้อสามารถตรวจได้เช่นกัน
ทั้งนี้ หากยืนยันแล้วว่าสายพันธุ์ส่วนใหญ่คืออะไรก็อาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจหาสายพันธุ์ในแต่ละบุคคลอีก แต่อย่างไรก็ตามยังต้องมีการตรวจรหัสพันธุกรรม เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ ทั้งนี้เรายังต้องอยู่กับโอไมครอนกัน ถ้าหากการติดเชื้อไม่รุนแรง ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ และขอเชิญชวนให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ ให้มารับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อ ลดความรุนแรงจากเชื้อโควิด
ด้าน ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวย้ำว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องทราบว่าเชื้อโควิด-19 ที่ตนเองติดนั้นเป็นสายพันธุ์อะไร เนื่องจากการดูแลรักษาไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากสายพันธุ์อื่น แต่สิ่งที่สำคัญคือหากประชาชนติดเชื้อ จะต้องมีการประเมินอาการและแจ้งเข้าระบบ สังเกตอาการตนเองว่าหนักหรือไม่ ซึ่งหากดูแลตนเองให้หายเร็วๆ และทำร่างกายให้แข็งแรง จะช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อให้คนอื่น ๆ ได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews