Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

เข็นส่งออกกู้วิกฤติศก. รบ.อย่าลอยแพเอกชน

ว่ากันว่าโควิด-19 ระลอกที่ 3 กระทบหนักกระทบแรง โอกาสฟื้นของเศรษฐกิจไทยเริ่มริบหรี่เต็มที จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังพุ่งสูงขึ้น รวมถึงการพบเชื้อใหม่หลากหลายสายพันธุ์ที่ต่างจากเดิม ทั้งอินเดียและแอฟริกาใต้ ยิ่งส่งผลกับความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศ ปัจจัยเดียวที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจเวลานี้คือการส่งออก เพราะอาศัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคมที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 และในเดือนเมษายนมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 13 ตามการคาดเดาของ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ดีแล้วหรือไม่

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. บอกกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ตัวเลขการส่งออกที่เห็นขยายตัวอยู่ในระดับปัจจุบันเป็นตัวเลขที่ดี แต่จริงๆ แล้วการส่งออกของประเทศยังดีกว่านี้ได้อีก หากได้รับการสนับสนุนที่จริงใจจากรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเวลานี้มองว่าเอกชนต้องเป็นฝ่ายดิ้นรนเอาตัวรอดเพียงฝ่ายเดียว ทั้งที่รายได้จากการส่งออกเป็นทางเดียวเวลานี้ที่จะสามารถพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้ยังขยายตัวเป็นบวกได้ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่มีผลกับการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ง่ายๆ

และเมื่อเทียบกับประเทศจีนที่การส่งออกในเดือนที่ผ่านมาเติบโตได้ถึงร้อยละ 30 ในขณะที่การส่งออกของไทย ล่าสุดขยายตัวเพียงร้อยละ 8.5 ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าที่การบริโภคฟื้นตัว ซึ่งทางผู้ส่งออกมองว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่หากภาครัฐให้การสนับสนุนผู้ส่งออกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่เวลานี้กระทรวงพาณิชย์มองว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว แต่ในความเป็นจริงตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการส่งออกยังไม่เพียงพอ โดยมีสินค้ารอส่งออกอีกเป็นจำนวนมากหากมีตู้สินค้าเพิ่มขึ้นการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในระดับปัจจุบันมาก

โดยผู้ส่งออกยอมรับว่าเวลานี้ต้องใช้ความพยายามในการผลักดันการส่งออกอย่างหนัก เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอ เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากรัฐบาล ทั้งที่ภาคการส่งออกมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ หลังการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจโลกที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศสำคัญหลายประเทศมีการขยายตัวมากขึ้น เช่น ในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป สะท้อนการฟื้นตัวของการบริโภคและมีโอกาสเป็นไปได้ที่ประเทศเหล่านั้นจะทยอยปรับลดการใช้มาตรการ QE ลง เพื่อดึงเงินไหลกลับเข้าประเทศ โดยสหรัฐฯประกาศพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในช่วงต้นปีหน้า อาจทำให้เงินสกุลต่างประเทศโดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมีผลกับเงินบาทของไทยปรับอ่อนค่าลง ผู้ส่งออกจึงอยากให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ อยู่ในระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อทำให้การส่งออกของประเทศสามารถเติบโตได้

ล่าสุดอาจมองเห็นอนาคตได้บ้าง เมื่อนายกรัฐมนตรีออกมาระบุผ่านรองโฆษกรัฐบาล ว่าพร้อมให้การสนับสนุน มาตรการด้านการส่งออกอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของภาคการส่งออก ถึงจะไม่ได้ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนแต่ก็น่าจะมีความหวังได้บ้างไม่มากก็น้อย ..

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube