ส่อง2โปรฯทางเลือก”ลุงตู่”ยาใจศก.โควิด
ส่อง2โปรฯทางเลือก”ลุงตู่”ยาใจศก.โควิด
สิ้นสุดการรอคอย หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของ COVID-19 ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการ ครอบคลุมประชาชนประมาณ 51 ล้านคน
โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่จะเปิดให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ 31 ล้านคน จะได้รับสิทธิภาครัฐร่วมจ่ายร้อยละ 50 สำหรับค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และค่าบริการ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 1,500 บาทต่อคน ในแต่ละรอบ รอบละ 3 เดือน หรือไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ซึ่งการร่วมจ่ายคนละครึ่งนี้จะช่วยเติมกำลังซื้อของประชาชน สำหรับวิธีลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 3 แบ่งเป็น 2 ช่องทาง 1. ผู้ที่มี G -wallet อยู่ลงทะเบียนผ่านช่องทาง G -wallet ได้เลย และ2. ผู้ที่ไม่มี G -wallet ลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com และเมื่อได้แล้วต้องไปยืนยนตัวตนที่ธนาคารกรุงไทยตามขั้นตอน
ทั้งนี้ประชาชนต้องเลือกว่าจะร่วมโครงการ คนละครึ่ง หรือ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เพราะหากเข้าร่วมโครงการใดแล้วจะไม่สามารถเข้าร่วมอีกโครงการได้ ซึ่งโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เป็นโครงการใหม่ โดยผู้ได้รับสิทธิไม่เกิน 4 ล้านคน ที่ชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการ ได้แก่ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป ค่าบริการนวด สปา ทำผมทำเล็บ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับวงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Voucher โดยวงเงินใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน และยอดใช้จ่ายที่นำมาคำนวณสิทธิไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อวัน และจะได้รับสิทธิ e-Voucher สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ
ซึ่งคาดว่าโครงการทั้งสองโครงการนั้นจะเริ่มใช้จ่ายได้เร็วที่สุดในวันที่ 1 กรกฎาคม จนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2564 แต่คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการดำเนินโครงการได้
ขณะที่ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า จากการแพร่ระบาด ของ โควิด-19 ในรอบนี้ ทางกระทรวงการคลังยังรอประเมินสถานการณ์ ซึ่งมีการประเมินเป็นรายไตรมาสสำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้สำหรับมาตรการที่ออกมาล่าสุดเพิ่มเติม 4 มาตรการจากการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมายังคงเป็นวงเงินเหลือจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น ส่วนวงเงินกู้ใหม่อีก 5 แสนล้านบาทยังไม่ได้นำมาใช้ โดยทางกระทรวงการคลังรอประเมินสถานการณ์ เพื่อเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมในระยะถัดไป โดยในระดับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีในระยะถัดไปที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
อย่างไรก็ตามจากทั้ง 4 มาตรการคาดว่าจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี เติบโตได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่งถือว่ามาตรการรัฐที่ออกมาเพิ่มเติมนั้นจะช่วยผลักดันและพยุงเศรษฐกิจในช่วงภาวะ โควิด-19 และคงต้องมาติดตามเพิ่มเติมสำหรับวงเงินกู้อีก 500,000 ล้านบาท จะมีมาตรการใดออกมาในระยะถัดไป และจะตอบโจทย์ต่อการพยุงเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news