ศึก”ท้องถิ่น”ชิงวัคซีนแห่จองพรึบ
ศึก”ท้องถิ่น”ชิงวัคซีนแห่จองพรึบ
หลังจากราชกิจจานุเบกษา ประกาศปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณซื้อวัคซีนโควิด-19 ได้แล้ว ทำให้เกิดความตื่นตัวขึ้นอีกครั้ง เมื่อองค์กรท้องถิ่นจำนวนมากกว่า 60 แห่ง ต่างแสดงเจตจำนงขอเข้าจอง วัคซีน เหมือนอย่างเช่นนายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ที่บอกกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ทางอบจ.อุดรธานี ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว เพื่อขอจองซื้อวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 งวด งวดละ 50 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำหนดไว้ทุกประการ พร้อมกันนั้นได้ทำหนังสือแจ้งไปยังทางผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เรียบร้อยแล้ว
สำหรับกรณีหลายฝ่ายกลัวว่าจะซ้ำซ้อนกับวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามาหรือไม่นั้น นายกวิเชียร ตอบชัดๆว่า ไม่ซ้ำซ้อนแน่นอน เพราะถ้าได้วัคซีนมาแล้วต้องผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุดรธานีเพื่อบริหารจัดการให้เหมาะสม และวัคซีนตรงนี้จะนำมาฉีดฟรีให้กับประชาชนกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงหน่วยงานรัฐ เช่นกลุ่มคนยากจน ไม่มีมือถือ ไม่ได้ลงทะเบียนไว้กับทางรัฐ
ส่วนนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ระบุกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. เช่นกันว่าทางเทศบาลนครนนทบุรี จัดสรรงบประมาณไว้ 180 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อวัคซีนทางเลือกมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ประมาณ 150,000 คน ซึ่งทางเทศบาลนครนนทบุรีมีศักยภาพในการฉีดวัคซีนได้ 5,000 คนต่อวัน เพราะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 12แห่ง และมีเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมไว้แล้ว
และแม้ทางรัฐบาลจะไฟเขียวให้ท้องถิ่นซื้อวัคซีนได้แล้ว แต่ยังติดเรื่องข้อกฎหมายบางอย่าง ซึ่งทาง “โกหงวน” นายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าการจองของราชวิทยาลัย ที่มีกระบวนการจองและขั้นตอนต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ทั้งหมด อาจจะมีปัญหาในเรื่องของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เอื้ออำนวยให้ทำได้ ดังนั้นทางสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย จึงอยากให้กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือซักซ้อมถึงแนวทางปฏิบัติในกรณีดังกล่าวให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รัฐไฟเขียวให้ท้องถิ่นจัดหาวัคซีนได้จาก 5 แหล่งเท่านั้นคือ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่ท้องถิ่นทุกแห่งต่างมุ่งหมายไปยังชิโนฟาร์มของ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และท้องถิ่นที่มีงบมากๆ จะมีโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนมากกว่า เช่น อบจ.ปทุมธานีจอง “ซิโนฟาร์ม” 5 แสนโดส คิดคร่าวๆเข็มละ 900 บาท จะต้องใช้เงิน 450 ล้านบาท
ซึ่งงานนี้ท้องถิ่นแต่ละแห่งวิ่งสู้ฟัด เทหมดหน้าตัก เช่นท้องถิ่นแห่งหนึ่งระบุว่าได้นำเงิน 70% จากงบประมาณฉุกเฉินภัยพิบัติมาจัดซื้อวัคซีนในครั้งนี้ ซึ่งโรคระบาดจัดเป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่งเหมือนกัน ฉะนั้นแล้วเชื่อได้ว่าในอนาคตไม่ไกลจะเกิดดราม่าการแย่งชิงวัคซีน รวมไปถึงจะมีการออกมาขยี้เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียมกันอีกเหมือนทุกๆครั้งที่ผ่านมา
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news