Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

โควิด3สูญ8แสนล.-รบ.กู้ละลายแม่น้ำ

โควิด3สูญ8แสนล.-รบ.กู้ละลายแม่น้ำ

โควิด-19 เล่นงานประเทศไทยมายาวนาน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนปัจจุบันนับได้ 3 ระลอกใหญ่ แต่ละครั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจต่างกัน การรับมือกับวิกฤตก็ต่างกัน

โดยล่าสุด นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้ประเมินภาพรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก โควิด-19 พบว่า ระลอกที่ 3 นี้น่าจะเจ็บหนักที่สุด เพราะเหมือนโดนซ้ำแผลเดิม ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจของประเทศซึมลึก จากการขาดรายได้ของประชาชน กำลังซื้อลดลง ส่งผลกับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการ ทำให้ไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจของประเทศติดลบ ร้อยละ 2.6 มากกว่าที่ประเมินไว้ถือเป็นตัวเลขที่คาดไม่ถึง เพราะโควิด-19 ในรอบที่1 ส่งผลทำให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหาย 2-3 แสนล้านบาท จากการรับมือด้วยการสั่งล็อคดาวน์ประเทศ ปิดกิจการ ห้ามการเดินทาง ทุกอย่างหยุดชะงักลง ในขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 3 แสนล้านบาท ดูตัวเลขนี้เพียงพอแค่ชดเชยความเสียหายจาก โควิด-19 ในรอบที่1 เท่านั้น

แต่ประเทศไทยยังเจอกับโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ซึ่งเริ่มมีผลกับการจ้างงานในประเทศ กิจการบางส่วนยังไม่สามารถเปิดได้ ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระลอกที่ 2 นี้อีกไม่ต่ำกว่า 3-5 แสนล้านบาท สถานการณ์ยังไม่ทันคลี่คลายไทยเจอระลอกที่ 3 ซ้ำ มาตรการรับมือยังไม่ทันเดินหน้า มีผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น ปัญหารุมเร้าทั้งเศรษฐกิจและสังคม โดยประเมินแล้วว่าภายใต้เงื่อนไข ในเดือนกรกฎาคมการกระจายวัคซีนทำได้มากขึ้น ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมจะอยู่ที่ 5-8 แสนล้านบาท

ความเสียหายเห็นตัวเลขชัดเจน และอาจสูงขึ้นถ้าการกระจายวัคซีนของไทยทำได้ช้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าไม่ได้ คงมีแต่ทรุดกับทรุด ความหวังล่าสุดคงอยู่ที่มาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ทั้งกระตุ้นการบริโภคและฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่จะพอต่อลมหายใจของภาคธุรกิจหรือไม่

ภาคเอกชนโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ออกมาประสานเสียงสะท้อนถึงรัฐบาล ว่ามาตรการในการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเวลานี้ ช้า และ น้อยเกินไป โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าเป็นโครงการที่ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและเข้าถึงการช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปประธรรม กระจายรายได้ไปยังผู้ประกอบการรายย่อยได้จริง แต่มาตรการคนละครึ่งเฟส 3 ที่รัฐบาลออกมานั้น มองว่า เม็ดเงินช่วยเหลือน้อยและล่าช้าเกินไป เพราะโครงการเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม และยังถูกแบ่งใช้เป็น 2 รอบ ช่วงไตรมาส 3 คนละ 1,500 บาท และไตรมาส 4 อีก 1,500 บาท อาจไม่ทันในการช่วยพยุงและฟื้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3 เพราะคำนวณแล้วเม็ดเงินจากโครงการจะอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท มาจาก 4 โครงการที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งโครงการ คนละครึ่ง เฟส 3 เม็ดเงิน 93,000 ล้านบาท ยิ่งใช้ยิ่งได้ 28,000 ล้านบาท เติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 16,400 ล้านบาท และเติมเงินกลุ่มเปราะบางอีก 3,000 ล้านบาท

ดูแบบเร็วๆ เม็ดเงินที่หายกับเม็ดเงินที่เติม อาจไม่พอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทางรอดเดียว คือการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เวลานั้นเศรษฐกิจจะเยียวยาตัวเอง โดยรัฐบาลไม่ต้องทุ่มเม็ดเงินมหาศาลจนเพิ่มตัวเลขหนี้สาธารณะของประเทศให้สูงขึ้นอีก

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube