ยิ่ง(เรา)ใช้(ลุงตู่)ยิ่งได้GDP
ยิ่ง(เรา)ใช้(ลุงตู่)ยิ่งได้GDP
โกยเรทติ้ง คว้าใจประชาชนอยู่ไม่น้อย กับ โปรแจกไม่อั้น เยียวยาทุกกลุ่มของรัฐบาลนายกฯลุงตู่ ตั้งแต่ “เราชนะ” “ม.33” “บัตรคนจน” ไปจนถึงโครงการเด็ด ที่มีชื่อฮิต ทั่วบ้าน ทั่วเมือง นาม “คนละครึ่ง” ที่ เข้าสู่ ซีซั่น 3 และล่าสุดที่ออกสตาร์ทวันนี้ กับการลงทะเบียน ยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้”นั้น ภาครัฐประเมิน ว่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 268,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 อีก 186,000 ล้านบาท กระทรวงการคลัง ประเมินว่าจะช่วยให้ผลักดันให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ปี 2564 เพิ่มขึ้นอีกมากกว่าร้อย 1
สำหรับคุณสมบัติของประชาชนที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นประชาชนสัญชาติไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือได้รับสิทธิ์โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และ ไม่ใช้สิทธิ์โครงการคนละครึ่ง เฟส 3
โดยผู้ที่ได้สิทธิจะต้องจ่ายเงินตัวเองซื้อสินค้าออกไปก่อน โดยชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยภาครัฐ หรือ g -Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เพื่อซื้อสินค้าและบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และโครงการจะคืนเงินกลับตามกติกาผ่าน E-Voucher หรือ ที่เรียกว่าบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้น โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้อาจกล่าวได้ว่าเป็นโครงการที่ดึงดูดให้ผู้มีกำลังซื้อสูง กลุ่มผู้มีรายได้สูง นำเงินออกมาใช้จ่ายซื้อสินค้า ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าบริการต่าง ๆ
ในมุมมอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” บอกกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นอีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลมุ่งหวังให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพื่อให้ตัวเลขจีดีพีสูงขึ้น และยังสอดรับกับแนวคิดของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ประชาชนนำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
“เป็นขบวนการที่เน้นในเรื่องของการกระตุ้นการอุปโภคบริโภค เป็นการดำเนินการ เพื่อที่จะแสวงหาตัวเลขจีดีพี คือเป็นการสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น แบบซื้อเอา คือ พูดง่ายๆ ว่าคนไม่ต้องขยันมากขึ้น คนไม่ต้องเก่งมากขึ้น แต่คุณใช้จ่ายมากขึ้น แค่นี้ก็พอ ก็เข้าหลักเดียวกันกับที่รองนายกฯคุณสุพัฒนพงษ์ ที่เขาพยายามบอกว่า ใครมีตัง ฝากอยู่ในแบงก์ก็เอาออกมา แล้วเอามาใช้ คือ เป็นการกระตุ้นให้จับจ่ายใช้สอย อุปโภค บริโภค เป็นลักษณะช่วยกันกินช่วยกันใช้ขับเคลื่อนเพื่อจะให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น”
นอกจากนี้ นายธีระชัย อดีตรัฐมนตรีฯคลัง ยังแสดง ความเป็นห่วงกับการใช้ “เงินกู้” ของรัฐบาล ที่ ณ วันนี้ใช้แบบเหวี่ยงแห ดังนั้น จึงควรเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ
“ควรจะจำกัดการช่วยเหลือเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยจริงๆ แต่แบบนี้ กลายเป็นเวลานี้ ออกมาอย่างนี้ กลายเป็นว่าขยายวงเพื่อจะให้กว้างออกไปและครอบคลุมคนจำนวนมากขึ้น คือ พูดง่ายๆ เราต้องถือหลักอย่างนี้ ว่าเวลานี้คุณไม่ได้เยียวยาโดยการใช้เงินภาษี คุณเยียวยาโดยการใช้เงินกู้ เพราะฉะนั้น การกู้คือการเอารายได้ในอนาคตมาใช้ มันต้องมีการชำระคืน เพราะฉะนั้นในการใช้เงินกู้มันต้องระวังมากเลย ใช้เฉพาะเงินที่มันจำเป็นจริงๆ เยียวยาลงเฉพาะจุดเลย ลงเฉพาะกลุ่มเลย ตรงนี้รับได้”
จากนี้ต่อไปคงต้องจับตาการใช้เงินกู้ของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะ อดีตรัฐมนตรีฯคลัง บอกว่า ยิ่งใกล้เลือกตั้งมากขึ้นเท่าไร นโยบายประชานิยมที่อ้างการเยียวยาจะมีมากขึ้น เพราะนี่คือ หนึ่งในกลยุทธ์การสร้างฐานเสียงของรัฐบาลนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news