คลัสเตอร์เปิดเทอมอื้อ-วัคซีนครูอ้อแอ้
ตามคาด หลัง เปิดเทอม ใหญ่วันที่ 14 มิ.ย.ได้ไม่นาน หลากโรงเรียน หลายจังหวัดพากันเปลี่ยนจากเรียนแบบOn site แล้วหันไปใช้แบบ On line แทนจนถึงสิ้นเดือนนี้ เพราะพบเด็กติดโควิด-19 กันมาก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดติดมาจากผู้ปกครองที่ไม่ดูแลตนเอง มาจากพื้นที่เสี่ยง ทำให้ติดลูกหลาน เมื่อมาโรงเรียนก็นำเชื้อมาติดเพื่อน ติดครู วุ่นวายกันไปหมด
สัปดาห์กว่าๆ คลัสเตอร์เปิดเทอมลามไปแล้ว กว่า 10 จังหวัด เช่นสกลนคร เด็กอนุบาลโรงเรียนอนุบาลสกลนคร วัย 4 ขวบ ติดโควิด-19 จากคนในครอบครัว ผู้อำนวยการโรงเรียนสั่งหยุดเรียนเฝ้าระวังดูอาการ กักตัวเพื่อนร่วมห้อง 31 ราย ตรวจหาเชื้อเกือบ 400 ราย หรือ ที่ชัยนาทเปิดเทอมได้ไม่กี่วัน พบผู้ปกครองที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง ติดเชื้อโควิดทำให้จังหวัดสั่งให้กว่า200โรงเรียนหยุดการเรียนในห้องเรียนโดยทันที
หรือที่โรงเรียนในจังหวัดพิษณุโลก เปิดเรียนได้วันเดียว ต้องสั่งปิดโรงเรียนทั้งตำบล หลังพบผู้ปกครองย้ายกลับมาจากพื้นที่สีแดงเข้มและติดโควิด-19 ทำให้มีผู้เสี่ยงสูงหลายราย โดยมีบุตร 2 คนที่กำลังอยู่ในวัยเรียนด้วย ทางโรงเรียนจึงปิดโรงเรียนทันที หรือโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา ประกาศปิดแล้ว 10 แห่ง หลังเปิดเทอม 1 สัปดาห์ หันไปใช้ระบบการเรียนแบบออนไลน์ 100%
หรือที่ มหาสารคาม นายกฤต สุวรรณพรหม ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคามเผย ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ทางจังหวัดได้ออกคำสั่ง ให้สถานศึกษาทุกแห่งในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือปิดชั่วคราวจนถึง 1 ก.ค. 64 ซึ่งที่ผ่านมาทางจังหวัดปลอดโควิด-19 มาหลายสัปดาห์ แต่มาพลาดตรงที่มีผู้ปกครองของเด็กที่เดินทางมาจากจังหวัดเสี่ยง ทำให้นำเชื้อมา ติดเด็กด้วย
ส่วน จ.เชียงราย เฉพาะคลัสเตอร์ ต.ตับเต่าสะสมเกินกว่า 100 รายแล้วนั้น นพ.วัชรพงศ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขบอกว่า มีการแพร่กระจายไปยัง อ.พญาเม็งราย และอ.เวียงแก่น ซึ่งตรวจกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงไปแล้วทั้งหมด 380 ราย รอการตรวจสวอปซ้ำอีกครั้งในอีก7วัน และ13 วัน เพื่อเช็คให้ชัดเจนอีกครั้ง
ขณะที่ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุชัดว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ติดจากบุคคลในครอบครัว ด้านสถานศึกษาที่ยังเปิดให้มีการเรียนการสอน ขอให้คุมเข้มตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ครู เด็ก ต้องประเมินความเสี่ยงผ่านระบบไทยเซฟไทย ก่อนออกจากบ้านทุกวัน โรงเรียนต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุในการป้องกันการแพร่ระบาด
และเมื่อมีการแพร่ระระบาดในสถาบันการศึกษา ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วมีการ ‘ฉีดวัคซีนโควิด-19’ ให้กับคุณครู และบุคลากรทางการศึกษาไปบ้างหรือไม่ ซึ่งทาง ทางทีมข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ได้สอบถามไปยังศึกษาธิการจังหวัดหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่พบว่าบุคลากรทางการศึกษาได้รับการฉีดวัคซีนไปน้อยมาก แค่10-20% เท่านั้น เพราะได้รับจัดสรรมาน้อย แต่คาดว่าภายในเดือนมิ.ย.นี้จะมีการเร่งฉีดให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการศึกษา นั้นโดยเฉพาะครูชั้นผู้น้อยที่ต้องใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด รวมไปถึงแม่บ้าน นักการ พนักงานรักษาความปลอดภัย คนขับรถโรงเรียน เหล่านี้ต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันที่ต้นทาง ไม่ใช่รอให้เกิดเหตุแล้วมาทยอยปิดโรงเรียน หันมาออนไลน์แทนเหมือนเช่นในปัจจุบันนี้ นั้นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news