Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ล็อกเมือง14วันสูญแสนล.เจ็บนี้ต้องจบ

ล็อกเมือง14วันสูญแสนล.เจ็บนี้ต้องจบ

สร้างความตื่นตระหนกอยู่ไม่น้อย กับยอดติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่พุ่งพรวดเฉียดหมื่นคนต่อวันนำมาสู่ มาตรการ “ล็อกดาวน์” 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยง โดยมีกรุงเทพมหานคร และ ปริณมณฑล ติดโผแน่นอนว่า “ยาแรง” ที่ ศบค. ประกาศครั้งนี้ เดินพันด้วยความเชื่อมั่น ที่ถูกเชื่อมโยงอนาคตของประเทศนั่นเพราะ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ส่อแววถึงจุด Peak ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.ค. ที่สำคัญการตรวจพบในพื้นที่ต่างจังหวัดมีมากขึ้น สะท้อนถึงจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มขยายวงออกไปจากเดิมที่เคยกระจุดอยู่ในเขต กทม. และปริมณฑลเท่านั้น

โดยปัจจุบันสัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน กทม. ต่อ ต่างจังหวัดอยู่ที่ 50/50 จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 60/40 ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่ใครต่อใคร ยกให้เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็ว เริ่มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนได้จากสัดส่วนผู้ป่วยจากสายพันธุ์เดลต้าในเขต กทม. เพิ่มขึ้น ล่าสุดแตะระดับ 70% สูงกว่าสายพันธุ์ Alpha ส่วนภาพรวมทั้งประเทศพบ โควิด-19 สายพันธ์ Alpha 65.1%, เดลต้า 32.2% และ Beta ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้อยู่ที่ 2.6 %

ในมุมมอง ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย “นายไพบูลย์ นลินทรางกูร” เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การล็อกดาวน์ของรัฐบาล 14 วันที่ประกาศออกมา เป็นไปตามที่นักลงทุนในตลาดทุนคาดการณ์ไว้ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยได้รับทราบข่าวสารดังกล่าวและมีผลกระทบไปแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้น โดยจากนี้คงต้องติดตามว่าการล็อกดาวน์ 14 วันของรัฐบาล จะสามารถทำให้ยอดผู้ติดเชื้อปรับตัวลดลงไปที่ระดับ 1,000 ถึง 2,000 คนได้หรือไม่ ซึ่งหากทำได้จากสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและจะสะท้อนไปยังตลาดหุ้นให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่หากจำนวนยอดผู้ติดเชื้อไม่ปรับลดลงจะกระทบตลาดทุนให้ปรับตัวลดลงในระยะถัดไป

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม และการออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมเนื่องจากมองว่าสถานการณ์ในปัจจุบันอาจจะยืดเยื้อออกไป ซึ่งมาตรการต่างๆที่ออกมาอาจไม่เพียงพอในอนาคตข้างหน้า

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเห็นด้วยกับ ศบค.ที่ประกาศยกระดับมาตรการคุมเข้มเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัด ซึ่งอาจจะกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนบ้าง แต่เพื่อเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อที่รุนแรงมากในขณะนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ

ทั้งนี้ประเมิณว่าการยกระดับมาตรการควบคุมที่จะเกิดขึ้นในช่วง 14 วันนี้ จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ 50,000 – 100,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องใช้เม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการควบคุมการระบาด และมาตรการเยียวยาที่จะต้องออกมาควบคู่กันซึ่งต้องเร่งการใช้เงินกู้ที่เตรียมไว้ 5 แสนล้านบาทออกมาใช้ช่วงนี้

จากนี้ต่อไป จะต้องจับตามาตรการที่จะแอ็คชั่นในวันที่ 12 ก.ค. และนับไปอีก 14 วัน ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงหรือไม่ เพราะ ทุกมาตรการที่ออกมา คือ การเดิมพันครั้งใหญ่ของประเทศไทย ที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่า “เจ็บแล้วต้องจบ”

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube