ชุดตรวจ ATK มีวางขายแล้ว ตามร้านยาราคา 350-600 บาท
จากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้ประชาชนใช้ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนได้ด้วยตนเอง จากการลงพื้นของทีมข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ในวันนี้พบว่ามีขายบ้างแล้วในร้านขายยาโดยมีเภสัชกรให้คำแนะนำ ซึ่งราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณชุดละ 350-600 บาท
จากสถานการณ์การเเพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ทวีความรุนเเรงมากขึ้น ทำให้ กระทรวงสาธารณสุข, และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา จนได้ข้อสรุปร่อนประกาศให้ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิท หรือ ATK เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยตนเอง และเป็นการให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้มากขึ้น ตรวจง่ายและทราบผลไว มีความแม่นยำกว่า 99% พร้อมทั้งลดการแออัดจากการรอคิวเข้าตรวจโดยหน่วยงานของรัฐ รวมถึงป้องกันคลัสเตอร์ไม่ให้มีเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนชุดตรวจโควิด-19 ATK สำหรับประชาชน รวม 5 ยี่ห้อ สามารถหาซื้อได้ผ่านสถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐ และร้านขายยาที่มีเภสัชกรให้คำแนะนำ
จากการลงพื้นที่ของทีมข่าวพบว่า ขณะนี้ในพื้นที่ กทม. บางจุด เช่น ร้านขายยาบริเวณรามคำแหง-ประชาราษฏร์บำเพ็ญ ที่มีเภสัชกรแนะนำโดยเฉพาะก็มีการนำชุดตรวจ ATK มาวางขายบ้างแล้ว ซึ่งประชาชนต่างก็ให้ความสนใจ มีทั้งเข้ามาสอบถามและได้ซื้อไปทำการตรวจแล้วด้วย จากการสำรวจพบว่าชุดตรวจ ATK มีราคาตั้งแต่ 350 จนถึง 600 บาท ซึ่งเภสัชกรก็ได้ให้คำแนะนำทุกครั้ง ทั้งขั้นตอน วิธีการใช้ให้ถูกต้อง ซึ่งเภสัชกร สัมพันธ์ บุญญานุพงศ์ ได้เปิดเผยกับทีมข่าวว่า สิ่งที่ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการกำจัดอย่างถูกวิธี ควรใส่ถึงซิปล็อกและทิ้งใส่ถังขยะสีแดงเพื่อคัดแยกว่าเป็นขยะที่มีอันตราย
“วิธีการตรวจขึ้นอยู่ตัวของชุดตรวจ จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ เป็นแบบเก็บตัวอย่างเลือกใช้เลือดในการตรวจ กับตัวที่ใช้สารคัดหลั่ง คือตัว Swab อาจจะ Swab จากช่องจมูก หลังจากนั้นนำตัวสารคัดหลั่งของเราหรือเลือด ไปผสมกับตัวน้ำยาที่ติดมากับชุดตรวจ จากนั้นจะเอาตัวน้ำยาที่ผสมกับสารคัดหลั่งไปหยดลงในชุดตรวจ โดยปกติจะวัดค่าออกมาเป็นแถบ โดยปกติชุดตรวจจะมีอยู่แล้ว 1 แถบ ทีนี้หลังจากตรวจรอประมาณ 15-30 นาที แล้วผลออกมาเป็นบวกหมายความว่ามันขึ้นเพิ่มมาอีก1ขีดเป็น 2 ขีด ก็อ่านผลเป็น Positive มีแนวโน้มค่อนข้างเป็นไปได้สูงว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 สุดท้ายก็ต้องได้รับการ Confirm หรือได้รับการตรวจซ้ำอีกครั้งโดยโรงพยาบาล
ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ชุดตรวจก่อน เพราะว่าการใช้ชุดตรวจผิดวิธีอาจทำให้การแปรผลผิดพลาดได้ รวมถึงการเก็บชุดตรวจทิ้งทำลายให้เหมาะสม ถ้าแนะนำเลยก็คือเก็บใส่ถุงพลาสติกหรือจริงๆเป็นถึงซิปจะดีมาก แล้วก็ปิดมิดชิด หรือเขียนระบุ หรือไม่ก็แยกเป็นถุงขยะสีแดงไปเลยเพราะจริงๆแล้วถุงขยะสีแดงบ่งบอกว่าเป็นถุงขยะสำหรับติดเชื้อ พนักงานที่เขาเก็บขยะจะได้รู้ว่าขยะตัวนี้เป็นขยะติดเชื้อ จะได้แยกทำลายต่อไป”
ส่วนร้านขายยาอีกร้านระบุว่า สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเช่นเดียวกันคือการซื้อไปเพื่อโก่งราคาและนำไปขายต่อ และสาเหตุที่ราคาต่างกันเพราะการกำหนดต้นทุนจากผู้ผลิต ซึ่งต่อจากนี้คาดว่าภาครัฐน่าจะเข้ามาควบคุมราคากลางเพื่อให้เป็นไปแนวเดียวกัน โดยหลักสำคัญในการใช้ชุดตรวจ ATK คือ 1.สถานที่ซื้อต้องถูกต้อง และ 2.ผลิตภัณฑ์ถูกต้องเพราะหากชุดตรวจถูกต้องแต่ไม่สามารถติดต่อกับสถานที่ซื้อได้ ก็จะเกิดปัญหา ดังนั้น กฎหมายที่ประกาศออกมาจึงยังระบุว่าต้องเป็นการซื้อจากสถานพยาบาลและร้านยาที่มีเภสัชกรเท่านั้น ซึ่งไม่แนะนำให้ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาฯ อย. กล่าวว่า หากพบว่าผลตรวจเป็นลบ ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วัน แต่หากผลตรวจเป็นบวกให้ติดต่อหน่วยบริการใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการตรวจซ้ำเพื่อความถูกต้องแม่นยำด้วยการตรวจแบบ PT-PCR จากนั้นจะมีระบบส่งต่อ หรืออาจแนะนำให้ดูแลตัวเองที่บ้าน โดยจะมีทีมบุคลากรสาธารณสุขตามไปดูแลที่เรียกว่า ระบบบริการแบบปฐมภูมิ เพื่อดูแลผู้ป่วย ที่อยู่ในระบบHome Isulation
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news