ส่องชีวิตคนกรุงVSวิกฤตโควิด
ส่องชีวิตคนกรุงVSวิกฤตโควิด-19
การกลายพันธุ์ของไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา หรือ อินเดีย ได้เข้ายึดครองพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร และกระจายไปอีกหลายจังหวัด ด้วยอัตราการแพร่เชื้อเร็วกว่า และทำให้เชื้อลงปอดไวกว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยจะเห็นได้จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงแตะวันละกว่า 1 หมื่นคน และอัตราการเสียชีวิตยังสูง ทำให้เกิดความกังวลว่าระบบสาธารณสุขของไทยอาจจะล่มและไม่รองรับจำนวนผู้ป่วยในแต่ละวันได้ แต่ด้วยมาตรการต่างๆของรัฐบาลทั้งการประกาศล็อกดาวน์ 13 จังหวัด ขอความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนทำงานที่บ้านหรือ WFH แบบเต็มขีดความสามารถ ตลอดจนการปิดกิจการห้างร้านต่างๆส่งผลให้การใช้ชีวิตของคนในเมืองกรุงต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจและดูวิถีชีวิตผู้คนย่านรามคำแหงตั้งแต่ซอยรามคำแหง 43/1 เรื่อยมาจนถึงซอยมหาดไทย พบว่าบรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงาผู้คนไม่ค่อยพลุกพล่าน และไม่ค่อยออกมาจับจ่ายซื้อของ หรือทำงานข้างนอก ส่วนหนึ่งเพราะภาครัฐขอความร่วมมือให้ WFH แต่พบว่าร้านขายอาหารตามสั่งและน้ำดื่มหลายร้านยังคงเปิดอยู่แต่ก็ไม่ค่อยมีลูกค้ามากนัก การจราจรภายในซอยมีรถสัญจรผ่านค่อนข้างบางตา เช่นเดียวกับหอพักและอพาร์ทเม้นภายในซอยดูเงียบเหงาเพราะผู้คนไม่ค่อยออกมาด้านนอกและบางส่วนได้กลับไปต่างจังหวัด
จากการพูดคุยกับ นางประจัน ศรีโพธิ์ศรี อายุ 56 ปี วินจยย.รับจ้างเปิดเผยว่าขับวินอยู่ประมาณ 8 เดือนแล้ว ช่วงโควิดได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ ซึ่งตนขับตั้งแต่ตี 5 จน ถึง 3 ทุ่ม หรือก่อนเวลาเคอร์ฟิว รายได้ไม่เกิน 200 บาทต่อวันเท่านั้น
“คือว่าเด็กนักเรียนก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย หยุดมา 4 เดือนแล้ว ก็เรียนทางออนไลน์ เพราะว่าหยุดโควิด-19 กันหมดเลย ส่วนพวกป้าขับวิน จยย.อยู่ ซ.รามคำแหง 53 ต้องเดือดร้อน รอผู้โดยสารมานั่งรถคือพึ่งแต่ผู้โดยสารทั่วไป ถ้าไม่มีผู้โดยสารทั่วไปมานั่งก็เดือดร้อนต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน คือจากที่ได้ 500 บาทต่อวัน มาเป็นวันละ 200-300 บาทต่อวัน ไหนจะค่าน้ำมันรถ ไหนจะซื้อกินอะไรแบบนี้ก็เดือดร้อนไปหมด วันหนึ่งซื้อกินวันละ 3 เวลา หาได้ก็ได้กิน หาไม่ได้ก็ไม่ได้กินค่ะ”
ทางด้าน นายวิเชียร พักผ่อน อายุ 66 ปี ขับมานาน 28 ปี เล่าให้ทีมข่าวฟังว่าปกติซอยมหาดไทยจะเต็มไปด้วยผู้คน แต่ละวันมีรายได้ 700-800 บาท ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 200 บาท ที่ผ่านมามีเพื่อนวินจยย.รับจ้างด้วยกันต้องเลิกขับวินชั่วคราว บ้างกลับบ้านต่างจังหวัด บ้างเปลี่ยนไปเป็นไรเดอร์ขับรถส่งสินค้า ส่วนตัวเองแม้จะกลัวแต่ก็ยังต้องออกมาขับวินเพราะไม่มีอาชีพอย่างอื่น
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงผลกระทบส่วนหนึ่งเท่านั้น หลายชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ได้รับผลกระทบยังมีเป็นจำนวนมาก ชีวิตผู้คนที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตเช่นนี้เป็นความเดือดร้อนที่เห็นมากขึ้น จึงถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่ต้องเร่งจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป และความสูญเสียตามมาอีกนับไม่ถ้วน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news