โควิดระลอก3 “ตู้ปันสุข”ร้าง สะท้อนพิษเศรษฐกิจ
โควิดระลอก3 “ตู้ปันสุข”ร้าง สะท้อนพิษเศรษฐกิจ
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เปรียบเสมือนพิษร้าย บ่อนทำลายความปกติสุขในชีวิต สร้างผลกระทบก่อเป็นวิกฤตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในสังคม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลว จนส่งผลในเรื่องที่สำคัญยิ่ง กับปัญหาปากท้องและความเป็นอยู่ของประชาชน จนก่อเกิดปรากฏการณ์ ธารน้ำใจ ส่งต่อความช่วยเหลือและความห่วงใยภายใต้ “ตู้ปันสุข” เพียงแค่หวังจะแบ่งปัน เป็นกำลังใจให้กันและกันในยามวิกฤต
แต่สถานการณ์โควิดยังพ่นพิษต่อเนื่อง ภาพธารน้ำใจที่หลั่งไหล ในรูปแบบ “ตู้ปันสุข” ที่เกลื่อนเมืองในช่วงแรก กลับค่อย ๆ จางหายลดน้อยถอยลงไปในการระบาดระลอกใหม่ แต่ว่ายังคงมีให้เห็นอยู่บ้างในบางพื้นที่
ทีมข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ลงพื้นที่สำรวจตู้ปันสุขในพื้นที่ กทม. บางจุด เช่น บริเวณใต้สะพานรถไฟฟ้าสถานีสะพานใหม่ 1 ใน 30 จุด ของโครงการ “เพราะเราเกิดบนผืนแผ่นดินเดียวกัน” จากการพูดคุยกับ นางสาลินี ดาราพงษ์ ผู้ประสานงานโครงการ พบว่า เป็นโครงการที่แบ่งปัน และช่วยเหลือประชาชน ผู้ที่ลำบากจากสถานการณ์โควิด ซึ่งมีผู้นำของมาใส่ตู้ของโครงการเรื่อย ๆ และพบว่าประชาชนที่ลำบากในยามวิกฤตก็มาหยิบเอาของเพื่อไปดำรงชีวิตเช่นกัน
ส่วนบริเวณใกล้กับตึก Thai PBS พบว่าเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีตู้ปันสุข ซึ่งจะมีคนนำของมาใส่ไว้บ้าง แต่ในวันนี้พบว่าเป็นวันหยุด อาจจะยังไม่มีคนนำของมาใส่ โดยนางสาวกิ่งกมล กุยศรีกุล ประชาชนในพื้นที่ เปิดเผยกับทีมข่าวถึงกรณีตู้ปันสุข มองว่า กระแสตู้ปันสุขลดน้อยลงไม่เหมือนกับช่วงแรก เมื่อเกิดขึ้นหลายรอบ ร่วมกับภาวะพิษของเศรษฐกิจ คงไม่มีกำลังช่วยเหลือคนอื่น เพราะต่างก็ต้องดิ้นรนเอาตนให้รอด
ด้าน ผศ.ดร.กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัย และการต่างประเทศ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มองกรณีตู้ปันสุข ว่า เกิดจากความใจบุญสุนทาน เป็นภาพจำหรือค่านิยมพื้นฐานโดยทั่วไปของคนไทย ที่มีความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ถึงแม้ว่าตู้ปันสุขจะค่อย ๆ หายไป จากความเป็นกระแสและฉาบฉวยในเบื้องต้น แต่ก็สามารถช่วยเหลือคนได้จริง โดยสิ่งที่น่าสนใจและมองว่าเป็นปัญหาคือการที่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นอย่างถาวรและยั่งยืน ซึ่งมองไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง รัฐไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิด ตราบใดที่ไม่ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ไม่ปรับบทบาท ปรากฏการณ์และภาพสะท้อน “ตู้ปันสุข” คงไม่จางไปจากระบอบของประเทศไทย
จากปรากฏการณ์ “ตู้ปันสุข” ที่เกิดขึ้น หากจะมองในมุมธารน้ำใจ ความห่วงใย ที่พร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกันย่อมมองได้ แต่หากมองอีกมุมว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ย่อมไม่สามารถปฏิเสธได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่ หากประเทศไทยมีวิธีการรับมือ และจัดการที่ยั่งยืนในยามวิกฤต จากนี้สิ่งที่ต้องมุ่งหน้า คือ เร่งจัดการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด พิษร้ายที่บ่อนทำลายความปกติสุข ให้พลิกฟื้นคืนโดยเร็ว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news