เร่งปั๊มศก.ลดหนี้ครัวเรือนพุ่ง
เร่งปั๊มศก.ลดหนี้ครัวเรือนพุ่ง
ตัวเลขรายงานล่าสุด สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า มีสัดส่วนสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 90.5 ของ GDP ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความเป็นห่วงสัดส่วนหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่าหนี้มากกว่า 14 ล้านล้านบาท
แต่นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า จากระดับหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวสูงขึ้น โดยมีสัดส่วน ร้อยละ 90.5 ของGDP นั้น มองว่าไม่ได้เป็นระดับที่เหนือความคาดหมายเนื่องจากเวลานี้ GDP ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงขึ้นเป็นธรรมดา
แต่สิ่งที่สำคัญเวลานี้ ที่รัฐบาลจะต้องมีการเร่งดำเนินการ คือการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชนในประเทศ ผ่านโครงการต่างๆให้เร็วที่สุด รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อทำให้ GDP ของประเทศขยายตัวสูงขึ้น
เพราะจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เวลานี้ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญเนื่องจากประชาชนเริ่มเกิดความไม่มั่นใจมากขึ้น หากรัฐบาลไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้จะยิ่งส่งผลซ้ำเติมกับเศรษฐกิจของประเทศ ที่ระดับการใช้จ่ายจะลดลงอีกแม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการต่างๆช่วยเหลือประชาชนอยู่ในเวลานี้ก็ตาม โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่มีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมมากกว่า 30 ล้านคน แต่เวลานี้มีการล็อกดาวน์ในหลายจังหวัด ร้านค้าต่างๆที่เข้าร่วมโครงการต้องปิดกิจการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง อยากใช้เงินแต่ไม่มีที่ใช้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยลง
ล็อกดาวน์ ปิดห้าง ปิดร้านอาหาร งดขายสินค้าชั่วคราว หวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ในทางกลับกันตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องล็อกดาวน์อาจเสียของ
และหากเหตุการณ์ยังไม่ดีขึ้นหลายคนเสนอยาแรงถึงขั้นใช้อู่ฮั่นโมเดลปิดการเคลื่อนที่ของประชาชนแบบ100% มีคนเสนอก็มีคนค้าน เพราะบริบทของประเทศไทยกับประเทศจีนต่างกัน วิธีการที่ดีของประเทศหนึ่งอาจไม่เหมาะกับอีกประเทศหนึ่ง โดยนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปีนี้ จะติดลบร้อยละ 6-8 และทั้งปีมีโอกาสที่ GDP โดยรวมจะติดลบ หากรัฐบาลขยายมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัดออกไปจนถึงเดือนสิงหาคมหรือมีการขยายจำนวนจังหวัดล็อกดาวน์เพิ่มเติม ส่วนจะยกระดับไปสู่การปิดเมืองเหมือนเช่นอู่ฮั่นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจหนักกว่าที่ผ่านมาแน่นอน และอาจทำให้ภาคการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรตัวเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในขณะนี้ต้องหยุดชะงักลง
ตัดสินใจอย่างไรคงต้องทำอย่างรอบคอบเพราะหากคิดผิด นอกจากจะไม่ช่วยฟื้นเศรษฐกิจลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนแล้ว จะยิ่งทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP พุ่งสูงขึ้นไปอีกจากเศรษฐกิจที่ติดลบ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news