ล็อกดาวน์ 29 จังหวัดโลจิสติกส์ล่ม-จมไม่จบ
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังน่าห่วง ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังพุ่งไม่หยุด ล่าสุด นิวไฮทะลุ 18,000 คน ส่งผลให้ ศบค.ต่ออายุมาตรการล็อกดาวน์ที่ครบกำหนด 2 ส.ค.64 ไปอีก 14 วัน และเพิ่มพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ทั้งนี้ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ทาง ศบค. ระบุว่า อาจขยายเวลาไปถึงสิ้นเดือนนี้ ขณะที่ฝากฝั่งกระทรวงสาธารณสุข คาดว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 ในอัตราเร่งที่สูงแบบนี้อีกราว 1-2 เดือน
ทั้งนี้ การยกระดับพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด หรือคิดเป็น 37.6% ของจังหวัดทั้งหมดในประเทศไทยนั้น ต้องยอมรับว่า มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งหอการค้าไทยประเมินว่า ผลกระทบต่อ GDP เฉลี่ยอยู่ที่ 3 แสนล้านบาทต่อเดือน หรือ 2.75%ต่อ GDP จากเดิมคาดไว้ที่ 2.75 แสนล้านบาท
และจากมาตรการที่เข้มข้นกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่สู้ดี ทำให้ธุรกิจ ณ วันนี้ล้วนอยู่ในอาการโคม่า ไม่เว้นแต่ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยนายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย บอกกับ ไอ.เอ็น.เอ็น ว่า ภาพรวมของวงการขนส่งขณะนี้ถือว่าเลวร้ายมาก ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโควิด-19 โดยเฉพาะการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งเพื่อก่อสร้าง เรียกได้ว่า หยุดวิ่งให้บริการไปเลย จะมีเพียงการขนส่งพลังงาน การขนส่งสินค้าอุปโภค-บริโภค ของสด และ การขนส่งสินค้าที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกไปยังโรงงานตามพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งหากประเมินแล้ว รถในระบบวิ่งให้บริการขนส่ง 30-40% หรือรถมีอยู่ประมาณ 1 ล้านคัน วิ่งขนส่งเพียง 3-4 แสนคันเท่านั้น
ขณะนี้ถือว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่มีงานขนส่งไม่มีรายได้ ต้องหยุดวิ่งแบกรับภาระ ค่างวดรถ ค่าเช่ารถ บางรายโดนยึดรถเช่น รถบัสบริการ นำเที่ยว ไม่มีรายได้เลย พนักงานขับรถต้องกลับต่างจังหวัดไปทำอาชีพอื่นหารายได้ ถือเป็นวิกฤติที่ต้องเผชิญ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตั้งแต่ต้นปี ขาดทุนทุกเดือน
ทั้งนี้ หากประเมินแล้ว ภายในปีนี้ สถานการณ์โควิด-19ไม่มีทางคลี่คลายได้เลย และหากรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ผู้ประกอบการธุรกิจภาคขนส่งอาจจะต้องยกเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้ คือหลังจากที่รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้แล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาคือเรื่องของระบบเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นฟูได้อย่างไร ทั้งในเรื่องของเงินกู้ที่นำมาบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าและการพักชำระดอกเบี้ยต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าหากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว เรื่องเหล่านี้จะต้องเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไข ในขณะที่ประชาชนนั้นกำลังซื้อลดลงรายได้ไม่เทียบเท่ารายจ่ายนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news