Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ส่องเงินลุงสู้โควิดโดนตีกรอบ

ส่องเงินลุงสู้โควิดโดนตีกรอบ

การประกาศ “ล็อกดาวน์” พ่วงด้วย “เคอร์ฟิว” พื้นที่แดงเข้ม 29 จังหวัด ดูยังไม่ขลัง นั่นเพราะ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังพุ่งทำนิวไฮเป็นว่าเล่น

ขณะที่คำทำนายของกระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ ว่า ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ยอดผู้ป่วยในต่างจังหวัดจะสูงขึ้นถึงจุดพีคเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กทม. และปริมณฑลยังอยู่ในอัตราสูงขึ้น และกำลังประสบปัญหาขาดแคลนเตียง ส่งผลให้มีประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ป่วย ต้องเดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาเดิมแน่นอนว่า เมื่อจำนวนผู้ป่วยยังนิวไฮ มาตรการรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดก็น่าจะเข้มข้นขึ้นนับจากนี้และเมื่อกฎระเบียบ ถูกยกระดับ เอาจริง เอาจัง ก็ย่อมทำให้เม็ดเงินที่จะนำมาเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐ ดูจะมากขึ้นตามลำดับปัจจุบันเม็ดเงินที่ใช้ในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ล้วนมาจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้เบิกใช้ใกล้ครบแล้ว แต่ก็ยังมีอีก 5 แสนล้านบาท ที่จ่อคิวเข้ามาเติมเต็ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงแหล่งเงินของรัฐบาล กับภารกิจใหญ่ในการต่อสู้โควิด-19 ที่ถูกเชื่อมโยงกับการเม็ดเงินเยียวยา งานนี้รัฐบาลย่อมคิดหนัก นั่นเพราะแหล่งเงินทุนของรัฐในอนาคตอาจจะเผชิญกับข้อจำกัดมากมาย โดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุข้อจำกัด คือ

1. งบประมาณ ซึ่งจากการรวบรวม ภาครัฐจะมีวงเงินสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจราว 7.43 แสนล้านบาท แบ่งเป็น

1. ) เงินในปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1.54 แสนล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 5.89 แสนล้านบาท

2.) พรก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท หลังจากเงินกู้พรก. 1 ล้านล้านเบิกใช้ใกล้ครบแล้ว

2. ข้อจำกัดจากเพดานหนี้สาธารณะ อิง สบน. ประเมิน หนี้สาธารณะต่อ GDP ณ ก.ย. 2564 เพิ่มเป็น 58.88% ใกล้แตะเพดาน ที่ 60% หากรัฐต้องจัดหาเงินทุนเพิ่มคาดปี 2565 มีโอกาสเกินเพดานแน่นอน

ในมุมมอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาล ที่แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดเท่าที่ควร โดยเฉพาะการกระจายเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมากจนเกินไป อาจทำให้การกู้เงินของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาในระยะข้างหน้ามีปัญหาได้ เนื่องจากระดับเพดานหนี้พุ่งสูงขึ้นใกล้ระดับร้อยละ 60 ของจีดีพี ซึ่งอาจทำให้อนาคตการดำเนิน นโยบายด้านการคลังอาจมีปัญหาได้ เนื่องจากอาจไม่มีวงเงินสำหรับการกู้พอดำเนินการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยเร็ว

ส่วนการบริหารจัดการ ด้านนโยบายการเงินของทางธนาคารแห่งประเทศไทยถือว่ามาถูกทางและไม่มีความน่าเป็นห่วง ทั้งการรอจังหวะในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม ในระยะข้างหน้าตามสหการ โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ไม่ใช่เรื่องแปลกเนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างกระจายตัวสูง ประกอบกับการล็อกดาวน์ของรัฐบาลที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยในส่วนของนโยบายการเงินควรเสริมเรื่อง การช่วยลดภาระของลูกหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งหามาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะผู้ฝากเงินรายใหญ่ เพื่อให้มีเงินออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

จากนี้ต่อไปคงต้องจับตาเกมรุกของรัฐบาลที่จะยกระดับคุมเข้มโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพราะยิ่งนานวันเท่าไร เม็ดเงินที่จะใช้ในการเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็จะมีมูลค่าสูงขึ้นมหาศาล ซึ่งหนี้ที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบกับกระเป๋าเงินของประเทศ ที่เชื่อมโยงกับเรตติ้งของรัฐบาลนั่นเอง

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

 

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube