อุ่นใจได้ แม้ลดคุ้มครองเงินฝาก
การ คุ้มครองเงินฝาก คืออะไร และการปรับล่าสุดมีผลอย่างไรต่อประชาชนผู้ออมเงินบ้าง ซึ่งข่าวล่าสุดที่ออกมาทางสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ได้ปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน ย้ำว่าไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น อาจทำให้เกิดความสงสัยและคำถามว่าหากฝากเงินเกิน 1 ล้านบาทในธนาคารมากๆจะทำอย่างไร อาจทำให้ประชาชน และผู้ฝากเงินบางส่วนตกใจไม่น้อย เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน ที่เราได้ฝากเงินเกิดปิดกิจการ ผู้ที่ฝากเงินเกิน 1 ล้านบาท คงตกใจแน่นอน ทั้งนี้ผู้ฝากเงินสามารถเอาเงินฝากปรับเปลี่ยนไปไว้ที่ไหนได้บ้างนอกจากการฝากเงินในธนาคารหรือสถาบันการเงิน
นอกเหนือจากการฝากเงินในสถาบันการเงิน ยังมีช่องทางที่น่าสนใจอาทิ ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนี้สามารถไปลงทุนหรือออมเงินไว้ใน ตราสารทุน หรือหุ้น ที่เป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่หลายคนรู้จัก ลักษณะการลงทุนนั่นเอง เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นสำหรับผู้ที่จะขยับไปลงทุนในส่วนอื่นๆแทนการออมเงินในสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว
โดยหลังกฏหมายมีผลบังคับใช้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกแถลงข่าวยืนยันในทันทีว่า การปรับวงเงินความคุ้มครองเงินฝากดังกล่าว สามารถคุ้มครองกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของประเทศได้อย่างครอบคลุมถึงกว่าร้อยละ 98 จากผู้ฝากเงินทั้งหมดของระบบสถาบันการเงินซึ่งพบว่าสัดส่วนของจำนวนผู้ฝากเงินที่ได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวนตามวงเงินที่กฎหมายกำหนดของประเทศไทยมีความใกล้เคียงกันกับค่าเฉลี่ยสัดส่วนจำนวนผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนตามกฎหมายของประเทศต่างๆโดยทางกระทรวงการคลัง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการประเมินร่วมกันแล้วว่า การคุ้มครองเงินฝากดังกล่าวมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินในระบบสถาบันการเงิน
สอดคล้องกับความคิดเห็นของอดีตขุนคลังอย่าง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยต่อสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า เรื่องการประกาศปรับลดการคุ้มครองเงิน เหลือรายละ 1 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงินนั้น เป็นเรื่องที่มีการประกาศมานานแล้ว และผู้ฝากเงินในระบบได้รับทราบข่าวดังกล่าวมาเป็นระยะ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเลื่อนและชะลอมาต่อเนื่อง จนล่าสุดมีการประกาศเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวคงไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ เนื่องจากผู้ฝากเงินรายย่อยสามารถกระจายความเสี่ยงได้ไปในแต่ละสถาบันการเงิน ขณะที่ผู้ฝากเงินรายใหญ่ ที่มีเงินออมเป็นจำนวนมากสามารถปรับเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนรวม หรือพันธบัตรของรัฐบาลได้ หากไม่มั่นใจฐานะและความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินนั้นๆ
อย่างไรก็ตามแม้ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะมีความน่าเป็นห่วง แต่การปรับลดการคุ้มครองเงินฝากดังกล่าวนั้นไม่น่ากังวล ซึ่งเชื่อว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถบริหารและจัดการได้อย่างแน่นอน
ซึ่งการยืนยันของอดีตขุนคลัง พอสร้างความมั่นใจสำหรับผู้ฝากเงินในปัจจุบันได้ว่าระบบยังแกร่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลได้แน่นอน แต่ทั้งนี้เองก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละคนที่จะจัดสรรเงินออมไปยังสัดส่วนต่างๆตามความเหมาะสม หรือความถนัด เพื่อรักษาสิทธิ์และผลประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news