เหลือเวลาอีก 24 ชั่วโมง ก็จะมีความชัดเจนว่า พรก.ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาด โควิด 19 มาตั้งแต่ ปลายเดือน มี.ค.2563 จะถูกขยายออกไปอีก หรือจะถูกยกเลิก
หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็น พรก.ฉุกเฉิน สร้างความสับสนเป็นอย่างยิ่ง เพราะภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี มีการยืนยัน ครม. เห็นชอบหลักการของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. …. เพื่อนำมาใช้แทน โดยจะไม่ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ประกอบกับ คณะกรรมการโรคติดต่อ ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกุล” เป็นประธาน ก็เตรียมผ่อนคลายเต็มที่ด้วยการมีมติลดวันกักตัว จาก 14 วัน เหลือเพียง 7 วันเท่านั้น แต่คล้อยหลังไปอีก 1 วัน ศปก.ศบค. ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน เตรียมเสนอให้ ศบค.ชุดใหญ่ ที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุม วันที่ 27 ก.ย.นี้ ขยาย พรก.ฉุกเฉินออกไปอีก 2 เดือน และปรับเวลาเคอร์ฟิวส์ จาก 3 ทุ่ม ถึง ตี 4 เป็น 4 ทุ่ม ถึงตี 4 แทน จึงนับได้ว่ากระแสข่าวในรอบสัปดาห์ สวิงไปมา และส่งผลกระทบในเชิงความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้น จะเลิก หรือจะขยาย พรก.ฉุกเฉินที่ใช้มากว่า 1ปีครึ่ง คงต้องรอการชี้ขาดจากที่ประชุมใหญ่ของ ศบค.ในวันจันทร์นี้เท่านั้น
จะเห็นได้ว่า แต่ละฝ่ายล้วนมีแนวทาง ความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ในการเสนอ และ 3 ใน 4 เป็นแนวทางที่ดูจะซอฟท์ลง มีเพียงข้อเสนอของฝ่ายมั่นคงเท่านั้นที่แตกต่าง แต่ก็ยากจะเดาใจว่า ในท้ายที่สุดแล้ว พรก.ฉุกเฉิน จะถูกยกเลิก หรือขยายออกไปอีก แต่ “อนุทิน ชาญวีรกุล”รองนายกฯ และรัฐมนตรีสาธารณสุข และในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ พูดถึง พรก.แก้ไขเพิ่มเติมพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. … หรือ พรก.ควบคุมโรค ที่ ครม.เห็นชอบแล้วว่า มีอำนาจเหมือน พรก.ฉุกเฉิน ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสามารถสั่งปิดสถานที่ ประกาศเคอร์ฟิวได้ สั่งการ บุคลากร เจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ได้ทั้งหมด และหากเป็นเช่นนั้น ก็อาจไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
แต่คงต้องรอความชัดเจน ว่า นายกฯ และศบค.จะฟันธงออกมาอย่างไรในวันที่ 27 ก.ย.นี้ พรก.ฉุกเฉินฉบับแรก จะถูกยกเลิกไป และจะมี พรก.อีกตัวที่มีอำนาจเหมือนกัน แต่สอดไส้บางอย่างที่ฝ่ายค้านกำลังจับตา มาใช้แทน และเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจสั่งการ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองต่อไป สยบรอยร้าวจากการรวบอำนาจ หรือจะยังคงขยาย พรก.ฉบับเก่าออกไปอีกครั้ง แต่ปรับลดบางมาตรการลง ผ่อนคลายให้ประชาชนทำมาหากินมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news