กู้ทะลุฟ้าแจกทะลุดิน “ลุงตู่” ไปต่อ
เมื่อยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เริ่มแผ่ว ไม่ทำนิวไฮ รัฐบาลเดินหน้าผ่อนคลายเศรษฐกิจให้ธุรกิจกลับมาเปิดได้ แม้ว่าจะไม่เต็ม 100% ก็ตาม แต่นี่ถือเป็นสัญญาณดี ที่จะเชื่อมโยงไปยังเรทติ้งนายกฯลุงตู่ให้สูงขึ้น ในห่วงจังหวะที่เกมการเมืองร้อนฉ่า
“ไม่ลาออก – ไม่ยุบสภา” คือ ที่เด็ดนายกฯ เพื่อสยบข่าวและตอกย้ำให้ประชาชน นักธุรกิจ รวมถึงภาคเอกชนได้เชื่อมั่นดังนั้นสมการทางการเมือง หากนายกฯจะอยู่ครบ 4 ปีตามที่ลั่นวาจาไว้ การสร้างผลงานให้เข้าตาประชาชนในช่วงจังหวะที่มีอำนาจ เพื่อโกยคะแนนนิยม สานฝันนายกฯอีกสมัย จึงมีความจำเป็นอยู่ไม่น้อย “นโยบายประชานิยม” ซึ่งผูกติดกับเงินกู้จึงถูกพูดถึงและถูกจับตาอย่างใกล้ชิดนั่นเพราะ รัฐบาลได้ปรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็นไม่เกิน 70% จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ทำให้รัฐบาลมีช่องทางการกู้เงินเพิ่มอีก 2 ล้านล้านบาท รวมเป็น 2.38 ล้านล้าน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ อ้างอิงจากผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่เคยระบุไว้
ทั้งนี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช” ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า นโยบายประชานิยมภายใต้เงินกู้ก่อนการเลือกตั้งของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะมีให้เห็นมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการกู้เงิน และที่สำคัญยังเป็นการเปิดช่องทางให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอีกด้วย
“ประเทศเล็กๆ อย่างเรา ไม่ควรเป็นหนี้เยอะ เพราะประเทศเราเป็นประเทศยากจน ถ้าไปกู้เยอะๆ คนก็ไม่เชื่อถือ พอคนไม่เชื่อถือ เศรษฐกิจก็ไม่เจริญ ไม่มีคนมาลงทุน รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลชนชั้นขุนศึกขุนนาง เคยด่าคนอื่นเขาใช่ไหม ว่าห้ามทำประชานิยม ผมไม่แจกเงินไม่อะไร นี่แจกมากที่สุดเลย แล้วกู้เงินมาแจกดื้อๆ คุณคิดว่าเป็นผลดีกับประเทศหรือ นายกฯพูดในสภาใช่ไหมว่า ผมเป็นนายกฯคนเดียวที่ ยอมถูกว่า เพื่อกู้เงินมาใส่มือประชาชน ประโยคนี้เป็นประโยคที่ถูกต้องหรือ คือลองคิดดูสิว่า ถ้าเป็นหนึ่งครอบครัว พ่อไม่ให้ใครทำอะไรทั้งนั้นเลย แล้วก็ไปกู้เงินมาให้ ไปกินไปใช้ แล้วครอบครัวไม่ล่มสลายหรือครับ”
ขณะที่ความเห็นของภาคเอกชน โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การกู้เงินของรัฐบาล ภายหลังที่ได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP นั้น จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาล และต้องชี้แจงการใช้จ่ายเงินอย่างรายละเอียดเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะกู้เงินล็อกใหม่ ก็มีความคืบหน้าจากรัฐบาล นั่นเพราะครม.มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2564 ได้อนุมัติมาตรการเศรษฐกิจวงเงินรวม 1.7 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็น 1.6% ของ GDP เช่น ลดภาระค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นการลดเงินสมทบผู้ประกันตน, ลดค่าไฟฟ้า-ประปา, สนับสนุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 และทัวร์เที่ยวไทย
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า เป็นที่สังเกตว่ามาตราการข้างต้น เน้นไปที่การเยียวยาประชาชน และประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาชัดเจนนัก จึงคาดว่าในระยะต่อไป รัฐบาลจะมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก เช่น กระตุ้นการบริโภค และกระตุ้นการลงทุน ที่จะผลักดันโครงการลงทุนใหม่ๆเกิดขึ้น จากนี้ต่อไปคงต้องจับตาการกู้เงินล็อกใหม่อย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือหนึ่งในปัจจัยที่จะดันเรทติ้งของผู้นำเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯอีกสมัยก็เป็นได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news