ภาพน้ำท่วม น้ำหลาก ภาพความเดือดร้อนของคนทางภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง ไล่เรื่อยมาถึง ภาคกลาง จากอุทกภัยในปี 2564 สร้างความวิตกให้กับคนในประเทศ ยิ่งเฉพาะคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะภาพจำเมื่อปี 2554 และ ปี2560 ที่นำพาความสูญเสียมหาศาล ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ยังคงหลอกหลอนสร้างบาดแผลในใจให้กับหลายคนมาจนถึงวันนี้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการคณะกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ในฐานะบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ คนหนึ่งของประเทศนี้ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ถ้าเทียบกับอุทกภัยเมื่อปี54 หรือปี60 แล้ว ภาพรวมของสถานการณ์น้ำในปีนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้นอย่างแน่นอน เพราะมีหลายปัจจัยที่ถูกนำมาพิจารณา
1.การเกิดน้ำท่วมในครั้งนี้ส่วนใหญ่เกิดจากปริมาตรฝนที่ตกในพื้นที่มาก แล้วไม่สามารถระบายเข้าสู่ลำรางน้ำสาธารณะได้ทัน ดังนั้นที่ผ่านมายังไม่มีการท่วมข้ามเขต ท่วมข้ามจังหวัดมากนักและเมื่อดูจากสถานีดาวเทียมจิสด้าพบว่าท่วมเฉพาะในพื้นที่ริมแม่น้ำยังไม่ขยายวงกว้างมากนัก และเป็นการท่วมเป็นบางจังหวัด ไม่ได้ท่วมหลายพื้นที่มากเท่าปี 54 หรือปี 60
2 น้ำเหนือก็ยังไม่มากนัก เขื่อนหลักๆในภาคเหนือยังสามารถรับน้ำได้อีกมาก และปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ยังปล่อยน้ำไม่มาก ประมาณ 2,500ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถ้าเทียบกับปี 54 ที่ปล่อยมากกว่า 4,000ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และในปีนี้ทางกรมชลประทานมีการบริหารจัดการน้ำแบ่งน้ำออกซ้ายขวา ผันน้ำเข้าคลอง เข้าทุ่งได้เป็นอย่างดี
3.สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา ขณะนี้ปล่อยน้ำอยู่2,600ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถ้าไปเทียบกับจุดวิกฤตที่ 2,840 แม้จะห่างเพียง 200กว่าล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ทางชลประทานยังสามารถแบ่งน้ำโดยผันน้ำเข้าระบบส่งน้ำทุ่งฝั่งตะวันออก ผ่านคลองชัยนาทป่าสัก คลองชัยนาท-อยุธยา และผันน้ำเข้าระบบส่งน้ำทุ่งฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่าอู่ทอง ได้อีกมากจึงยังไม่น่ากังวลเท่าไรนัก
4 สถานี C.29Aอ.บางไทร ก็ยังมีการปล่อยน้ำไม่มากนัก ยังบริหารจัดการได้ แต่ที่ต้องจับตาคือในพื้นที่จ.นนทบุรี กับจ.สมุทรปราการ ที่อาจมีปัญหาในเรื่องของน้ำทะเลหนุนทำให้การระบายน้ำออกสู่ทะเลทำได้ช้าลง ซึ่งสรุปแล้วปี 64 น้ำเหนือไม่มาก ไม่ได้ท่วมทุกจังหวัด การบริหารจัดการลุ่มแม่เจ้าพระยายังทำได้ จึงเชื่อว่าจะไม่เกิดอุทกภัยใหญ่เหมือนปี60 หรือ ปี 54 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ทาง ดร.รอยล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าตามปกติแล้วการปล่อยน้ำจากสถานีหลัก3แห่ง ทั้ง C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ C.13 เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และ สถานี C.29Aอ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา จะมีความสัมพันธ์กัน และปล่อยน้ำจากมากสุดไปหาน้อยสุด แต่ครั้งนี้มีการปล่อยน้ำจาก C.13 เขื่อนเจ้าพระยามากกว่า C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์แสดงว่าน้ำเหนืออาจไม่มากนัก และในพื้นที่ภาคกลางมีฝนตกหนักมากกว่า หรืออย่างมีเหตุบางประการที่ทำให้การปล่อยน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยามากที่นครสวรรค์ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูฝีมือการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะ”บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชนผู้ประสบภัยได้รวดเร็วมากแค่ไหน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news