รถบรรทุกขู่นำม็อบร้องลุงซัดน้ำมันแพง
ในห่วงจังหวะที่คนยังชุลมุนกับน้ำท่วมเฝ้ารอให้น้ำลด แต่ในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือน้ำมันกลับขึ้นเอา ขึ้นเอาเป็นว่าเล่น จนนายกฯลุงตู่สั่งจับตาใกล้ชิด พร้อมให้โฆษกรัฐบาล “ธนกร วังบุญคงชนะ” ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า รัฐบาลจะดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน B10 เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยจะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งปัจจุบันมีเงินอยู่มากเข้ามาโอบอุ้มพยุงราคา
นั่นเพราะหากราคา น้ำมันแพง ดีเซลพื้นฐาน B10 ทะลุเกิน 30 บาท/ลิตร ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อคะแนนนิยมรัฐบาลนายกฯตู่ และจะทำให้เป็นแผลบาดลึก หากฝ่ายค้านนำมาขยี้ ตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพ ดูแลประชาชน
ไม่เพียงแต่ราคาดีเซลพื้นฐาน B10 ที่รัฐบาลเป็นห่วง แต่ประชาชนจำนวนมาก ก็กังวลกับราคาน้ำมันที่มีทิศทางเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล B7 ซึ่งในอดีตนั้นก็คือดีเซลแบบเดิมๆ ที่ปัจจุบันยังมีผู้ใช้รถ นิยมเติมอยู่โดยล่าสุด 30 กันยายน 2564 ราคาน้ำมันดีเซล B7 ทะลุ 31 บาทต่อลิตรเป็นที่เรียบร้อย เช่นเดียวกับแก๊สโซซอล์ 95
จากสถิติราคาน้ำมันพบว่า ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้ค้าน้ำมันได้ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 6 ครั้งรวด โดยกลุ่มดีเซลขึ้นแล้ว 2.50 บาท/ลิตร กลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล์ขึ้น 1.90 บาทต่อลิตร และ E85 ขยับ 1 บาท
อย่างไรก็ตาม การประกาศอุ้มดีเซล B10 ของรัฐบาลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรนั้น นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ตอบโจทย์การขนส่ง ที่ ณ วันนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเติมดีเซล B7 ซึ่งเป็นดีเซลมาตรฐานเดิม ขณะเดียวกันหากจะมาเปลี่ยนให้ใช้ดีเซลB10 ก็ต้องเสียค่าบำรุงรักษา ดังนั้นทางสหพันธ์จะประชุมเพื่อแสดงจุดยืน ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่ฟังข้อเสนอของผู้ประกอบการ ก็จำเป็นที่จะต้องประท้วงกันบ้าง
“ในกรณีที่รัฐบาล จะมาเถลเฉไฉไปอุ้ม ใช้เงินกองทุนมาอุ้มดีเซลบี 10 เป็นเรื่องที่ไม่ตอบโจทย์ ในทางผู้บริโภค น้ำมันหรือผู้บริโภค น้ำมันดีเซลนะครับ เพราะว่าในระบบทุกวันนี้มีรถบรรทุกมากกว่า 75 ถึง 80% รวมถึงรถอเนกประสงค์อื่นๆด้วยใช้ B7 ทั้งนั้นครับ B10 จะไปใช้ในกรณีที่รถต่ำกว่ายูโรทู ก็คือรถ 20 ปีขึ้นไป รถไถนา เรือประมง เครื่องสูบน้ำเข้านา รถอีแต๋นอะไรพวกนี้จะใช้ B10 ได้ เพราะว่าไม่ต้องการความเร็ว หรือไม่ต้องการทำเวลา ในกรณีที่ไปใช้ B10 ขึ้นมา มันก็จะไปเพิ่มค่า Maintenance ค่าดูแลรักษาเครื่องยนต์อะไรอีกเยอะแยะ แต่ว่าส่วนใหญ่แล้ว ผมคิดว่าอันนี้ไม่ตอบโจทย์ภาคการขนส่งและภาคโลจิสติกส์แน่นอนครับ”
นอกจากนี้ นายทองอยู่ กล่าวอีกว่า มีอีก 3 เรื่องที่อยากให้รัฐบาลทำ นั่นคือ กลับไปศึกษาทบทวนภาษีสรรพสามิตน้ำมันทุกประเภทให้ถี่ถ้วน รวมถึงดูแลประชาชนผู้บริโภคให้มากกว่ากลุ่มทุนพลังงาน
“มีอยู่ 3 ประเด็นที่เราจะนำเสนอ ประเด็นแรก คือขอให้รัฐบาลใช้เงินกองทุนมารักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลในช่วงวิกฤตช่วงนี้ไปก่อน วิกฤต ไวรัสโควิด เป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชน ผู้บริโภคน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันพื้นฐานในเชิงพาณิชย์ ที่ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย รายย่อยเขาทำ อันที่สองอยากนำเสนอให้รัฐบาลไปศึกษาทบทวนภาษีสรรพสามิต น้ำมันทุกประเภทรวมถึงน้ำมันดีเซลก่อนก็ได้ ให้มันปรับลดลงในภาวะวิกฤตตรงนี้ ลงไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิตอะไรก็แล้วแต่ ข้อที่สามอยากเสนอให้รัฐบาลดูแลในเรื่องโครงสร้างภาษีน้ำมัน ให้ดูแลผู้บริโภคให้มากกว่ากลุ่มทุนพลังงาน สามเรื่องนี้เราอยากจะให้รัฐบาลเข้าไปดูแล อย่าไปอุ้มแต่โรงกลั่น อย่าไปอุ้มแต่การตลาด อย่าอุ้มผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในกลุ่มทุนพลังงาน เราไม่เห็นด้วยควรจะมาอุ้มพี่น้องประชาชนหรือผู้บริโภคพลังงานมากกว่าครับ”
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาราคาน้ำมันที่กลายเป็น น้ำมันแพง รวมถึงท่าทีเอกชนอย่างใกล้ชิด เพราะทุกสิ่งนี้ ต่างเกี่ยวโยงกับค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจ และราคาสินค้านั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news