Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

โอดตรึงราคา-ธุรกิจฯแบกหนี้ต้นทุนพุ่งแบงค์เมิน

โอดตรึงราคา-ธุรกิจฯแบกหนี้ต้นทุนพุ่งแบงค์เมิน แต่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้

 

เรียกได้ว่าเป็นภาวะผู้ประกอบการช่วยชาติ แบกภาระหลังแอ่น ต้นทุนเพิ่มจากทุกทิศทาง แต่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้ ถึงกับต้องเอ่ยปากอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

โดยนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เวลานี้ไม่มีผู้ประกอบการรายใดอยากปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพราะจะส่งผลกระทบกับยอดขายของตัวเอง มีแต่ต้องการปรับราคาลดลงเพื่อที่จะระบายสต๊อกทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ในขณะที่กำลังการผลิตนั้นผู้ประกอบการพยายามที่จะคงกำลังการผลิตไว้ให้ได้มากที่สุด แต่บางส่วนจำเป็นต้องลดกำลังการผลิตโดยปริยายเนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน ประมาณร้อยละ 10-20 แล้วแต่อุตสาหกรรม หลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาหลายระลอกทำให้แรงงานที่กลับประเทศ ไม่กลับเข้ามาทำงานตามเดิม รวมถึงแรงงานที่ถูกกักตัวหลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ในโรงงานผลิตสินค้าทำให้การผลิตทำได้ไม่เต็มที่ และเมื่อต้องลดกำลังการผลิตลงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงขึ้นโดยปริยาย

ซึ่งผู้ประกอบการนอกจากมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการลดกำลังการผลิตลงแล้วยังมีต้นทุนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกขาขึ้น และยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นไม่หยุด ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง การนำเข้าน้ำมันราคาย่อมสูงขึ้น รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตสินค้าบางส่วน ต้องนำเข้ามาในราคาสูงแบบไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ภาระตกหนักอยู่ที่ใครถ้าไม่ใช่ผู้ประกอบการ

ซึ่งเวลานี้ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการอยู่ในภาวะที่ทุกอย่างเต็มที่แล้ว หากวัตถุดิบในสต๊อกเดิมหมดอาจต้องมีการพิจารณาปรับตัวด้วยการยกเลิกการผลิต หรือเปลี่ยนการผลิตสินค้าเป็นรูปแบบอื่น โดยสต๊อกวัตถุดิบของผู้ประกอบการเวลานี้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน เพราะไม่สามารถสต๊อกสินค้าได้นานกว่านี้เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความเสี่ยงสูงหากจะมีการสต๊อกสินค้าเป็นเวลานานเหมือนการทำธุรกิจในช่วงก่อนเกิดโควิด-19

อย่างไรก็ตามการขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าของผู้ประกอบการจากกรมการค้าภายในนั้น มองว่า ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าได้ยากอยู่แล้วเนื่องจากมีกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ควบคุมอยู่ การปรับราคาในสินค้าควบคุมที่จำเป็นจะต้องมีการขออนุญาต และมีโอกาสได้รับอนุญาตให้ขึ้นราคาน้อยมาก โดยสินค้าบางรายการไม่ได้มีการปรับราคามาแล้วเป็นเวลานานนับปี ในขณะที่ต้นทุนการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ผู้ประกอบการจะใช้วิธีการบริหารจัดการเพื่อให้ยังสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้เพราะไม่มีผู้ประกอบการรายใดอยากปิดกิจการของตนเอง

และความหวังหนึ่งของผู้ประกอบการ คือ มาตรการในการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็ก หรือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเวลานี้ผู้ประกอบการรายเล็กยังคงประสบปัญหาในเรื่องของการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของสถาบันการเงินได้ เพราะติดเงื่อนไขบางประการ เช่น บางรายได้มีการกู้เงินรอบแรกไปแล้วและยังไม่ได้ชำระคืน จึงไม่สามารถขอกู้เงินเพิ่มได้ เนื่องจากสถาบันการเงินมีการพิจารณาถึงความสามารถในการชำระเงินคืนของลูกหนี้ด้วย แต่การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นหลายรอบ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการขอกู้เงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องของตนเอง

ความหวังสุดท้ายอาจอยู่ที่การเปิดประเทศ แม้ไม่ได้เยียวยาเป็นตัวเงิน แต่ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้มีความหวังลืมตาอ้าปากในอนาคต เงื่อนเวลาชัดเจน ทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น จะสู้หรือจะถอย ..

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube