เอกชนกุมขมับมีแต่เรื่องจะฟื้นตัวกันอย่างไรใครให้คำตอบได้เมื่อเจอกับปัญหารุมเร้า ของเดิมยังไม่ทันแก้เจอของใหม่ซ้ำเติม เรียกได้ว่ากระหน่ำทุกทิศทาง
เหมือนจะดีมองเห็นอนาคตเศรษฐกิจมีสิทธิฟื้นได้ เมื่อรัฐบาลประกาศเปิดประเทศคลายล็อกยกเลิกเคอร์ฟิว สร้างบรรยากาศเต็มที่ แต่กลับเจอปัญหาซ้ำซ้อนน้ำมันแพงทำต้นทุนการผลิตพุ่ง หนักสุดถึงขั้นประท้วงหยุดวิ่งรถขนส่ง หากไม่มีทางออกที่น่าพอใจ ทุกฝ่ายกำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า กรณีที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกจะหยุดวิ่งหากไม่ได้รับการดูแลปรับราคาน้ำมันดีเชลให้อยู่ที่ลิตรละ 25 บาท หากหยุดวิ่งจริงจะกระทบในด้านการขนส่งสินค้าต่างๆ อย่างแน่นอน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องมีการหารือในแนวทางการดูแลผู้ประกอบการรถบรรทุกว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการในส่วนนี้
ซึ่งราคาน้ำมันควรเป็นไปตามกลไกตลาดโลกทั้งความต้องการและการผลิต แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้นกระทบกับทั้งผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ผลิตสินค้า และประชาชนผู้บริโภค เวลานี้ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องคงต้องมีการหารือช่วยกันแบ่งเบาภาระส่วนนี้ด้วยกัน โดยจะไม่ผลักภาระไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงฝ่ายเดียวและในช่วงนี้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังกลับมาฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆของรัฐบาล หากเกิดการหยุดขนส่งสินค้าต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อความรวดเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศด้วย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมัน ราคาในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อราคาประเทศไทย ซึ่งเวลานี้รัฐบาลก็พยายามที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเชลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับทุกฝ่าย โดยไม่ฝืนกลไกตลาดโลกมากจนเกินไป
จะว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดก็คงไม่ผิด นอกจากผู้ผลิตสินค้าจะต้นทุนพุ่งสูงขึ้นจากหลายปัจจัยแล้ว ยังถูกสั่งตรึงราคาสินค้าแบบไม่รู้ว่าอนาคตจะได้ขึ้นราคาหรือไม่ โดยนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า จะให้พูดถึงต้นทุนการผลิตสินค้าเวลานี้ มีแต่พุ่งสูงขึ้น หากเจอระบบขนส่งที่มีปัญหาถึงขั้นหยุดวิ่งรถผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหาร รวมถึงการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเพราะการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกยังคงเป็นระบบการขนส่งที่สำคัญ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงลงท่าเรือ รวมถึงการกระจายสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้าต่างๆในประเทศด้วย
โดยภาคเอกชนมองว่า การตรึงราคาน้ำมันไว้ในระดับหนึ่ง ดีกว่าปล่อยให้ราคาลอยตัวแบบไม่มีทิศทาง เพราะจะยากต่อคำนวณต้นทุนการผลิตและทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดทุน ทั้งสินค้าส่งออกและสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ ซึ่งเวลานี้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่มีความผันผวนหลายรายการและต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ขาดทุน ทั้งในส่วนของค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และหากมีการหยุดวิ่งรถบรรทุกอีก จะเป็น สถานการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง สำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม
หากภาคอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก ทำเศรษฐกิจชะงักด้วยแน่นอน จะเลือกทางไหนให้ทุกฝ่ายอยู่รอด เปิดประเทศไม่เสียเปล่า รัฐบาลมีเวลาตัดสินใจไม่นานก่อนสายเกินไป ..
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news