หลังจากที่คนไทยต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคโควิด-19 มานานกว่า 2 ปี นอกจากความรุนแรงและความน่ากลัวของโรคแล้ว สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กันคืออัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงทวีความรุนแรง หลายบริษัทมีการปิดตัวลง ประชาชนมากมายต่างตกงานไร้ที่พึ่ง มีหนี้สินล้นพ้นตัว หลายคนเลือกที่จะใช้ชีวิตต่อแบบไปตายเอาดาบหน้า แต่ก็ยังมีอีกหลายคนตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองและครอบครัวเพื่อจากโลกนี้ไปพร้อมกัน
จากข้อมูลสถิติของกรมสุขภาพจิต พบว่า อัตราการฆ่าตัวตาย ปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2562 อย่างก้าวกระโดด จากอัตราเฉลี่ย 6.64 ต่อประชากร 1 แสนคน เพิ่มขึ้นเป็น 7.37 ต่อประชากร 1 แสนคน วันนี้ทีมข่าวไอ.เอ็น.เอ็น พามาคุณผู้ชมมาติดตามถึงสาเหตุและแรงจูงใจที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นตัดสินใจเลือกที่จะจบชีวิตของตัวเองลงพร้อมกับครอบครัว
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สถิติการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหลักต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดส่งผลให้มีการเลิกจ้าง ปัญหาว่างงาน และความเครียด การกดดันของคนในสังคมเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งคนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของการใช้ชีวิตในแต่ละวันของตัวเอง ทั้งการกักตัวอยู่บ้าน เรียนออนไลน์ ทำงานแบบ work from home ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง ต้องใช้ชีวิตตามลำพังมากขึ้น จึงกระตุ้นให้คนเกิดความเครียดเพิ่มมากจากเดิมหลายเท่า ทั้งนี้ ปัญหาการฆ่าคนในครอบครัวยังถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน โดยจะต้องดูจากข้อมูลเชิงลึกเรื่องสัมพันธภาพของคนในครอบครัว รวมทั้งการทะเลาะเบาะแว้ง หนี้สิน และคดีความต่าง ๆ ด้วย
ด้าน นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ระบุว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายจากที่กรมสุขภาพจิตทำการเก็บสถิติมาโดยตลอด ปัจจัยอันดับหนึ่งคือเรื่องของความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน คิดเป็น 50-60% ของทุกกรณี อย่างไรก็ตาม ปัญหาการฆ่าตัวตายมักไม่เกิดจากปัจจัยเดียว เพราะการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อาจเกิดจากความรู้สึกที่ไม่มีใครซัพพอร์ต หรือรับฟังปัญหา
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฆ่าตัวตายของคนไทยตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้น 10-15% โดยสถานการณ์ดังกล่าว ความสัมพันธ์ในครอบครัวถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากเริ่มสังเกตเห็นคนรอบข้างมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ควรใช้ความสัมพันธ์พูดคุยเยียวยา อาจทำให้บุคคลเหล่านั้น หมดความคิดเรื่องฆ่าตัวตายได้ถึง 50-60% เลยทีเดียว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news