ผวาเปิดปุ๊บติดปั๊บ – ปั่นวัคซีนลุง 100 ล.
กระแสเปิดเมือง เปิดประเทศยังคงดังกระหึ่มไปทั่วโลก ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ล่าสุด วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 พบยังคงต่ำกว่าหมื่น โดยอยู่ที่ 7,305 ราย ตามการฉีดวัคซีนที่รุดหน้าต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรี พอใจภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ไทยเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้เดิม กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าไทยจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ 100 ล้านโดส ในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมถึง 1 เดือน
แต่ทั้งนี้ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา แม้จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยกลับมาได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แต่ก็อาจส่งผลให้ โควิด-19 กลับมาได้ด้วยเช่นกัน หากสังคมไทย “การ์ดตก”
โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ระบุว่า ยังต้องติดตามพัฒนาการของการระบาดโควิด-19 หลังการเปิดประเทศ เพราะนี่คือ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 3 ปี 2564 และเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศ รวมทั้งการเร่งกระจายวัคซีนส่งผลให้ความเสี่ยงด้านต่ำลดลงก็ตาม
สอดรับกับมุมมองโรงพยาบาลเอกชนก็มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้ โดย ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) (BCH) สะท้อนเรื่องการเปิดประเทศกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ไว้อย่างสนใจ โดยยอมรับว่า ส่วนตัวมีความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่ยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้นการเปิดประเทศการ์ดจะต้องไม่ตก เพราะถ้าการ์ดตกหรือมีปัจจัยที่ทำให้โควิด-19 กลับมาระบาดก็จะส่งผลเสีย อย่างไรก็ตาม จะต้องจับตา 2 สัปดาห์หลังเปิดประเทศด้วยว่าภาพรวมเป็นอย่างไร
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงของการกลับมาระบาดซ้ำของ โควิด-19 แม้ในสถิติอดีตชี้ว่า การกลับมาผ่อนคลายกิจกรรมมักไม่ใช่สาเหตุหลักของการระบาดซ้ำ เช่น การผ่อนคลายหลัง Lockdown ช่วง มี.ค. – มิ.ย. 2563 ซึ่งหลังจากนั้นเกิดการระบาดในเดือน ธ.ค. 2563 – ม.ค. 2564 แต่เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ผ่านการกักตัว, การผ่อนคลายหลัง Lockdown ช่วง ม.ค. – ก.พ. 2564 ซึ่งหลังจากนั้นเกิดการระบาดในเดือน เม.ย. 2564 แต่เกิดจากโควิด-19 สายพันธุ์ Alpha ซึ่งสามารถแพร่ได้เร็ว
ดังนั้นจึงมีเพียงการผ่อนคลายในช่วงเดือน มิ.ย. 2564 ที่หลังจากนั้นตามมาด้วยการระบาดในเดือน ก.ค. – ปัจจุบัน แต่ส่วนหนึ่งเกิดจาก โควิด-19 สายพันธุ์ เดลต้าที่สามารถแพร่ได้เร็ว ร่วมอยู่ด้วย ส่งผลให้ปัจจุบัน สายพันธุ์ เดลต้ายังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย จึงประเมินได้ว่าโอกาสกลับมาระบาดซ้ำยังคงมี สอดคล้องกับประมาณการของกระทรวงสาธารณสุขที่พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยยังมีโอกาสทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันได้ หากมีการผ่อนคลายกิจกรรม และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว
จากนี้ต่อไปคงต้องจับตาการทยอยเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการฉีดวัคซีนอย่างใกล้ชิด เพราะนี่ คือการเดิมพันครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจไทยที่ถูกเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news