เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเจอแรงกระแทกจากโควิด-19 เพราะมีความเสี่ยงที่จะเห็นการแพร่ระบาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่ใครต่อใครยกให้เป็น “สายพันธุ์” ที่ติดเร็วกว่า “สายพันธุ์” อื่น
ทั้งนี้ หาก “โอไมครอน” ระบาดในไทย นักวิเคราะห์ ประเมินว่า จะมีผลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ในช่วงปลายปี 2564 ไปจนถึงปีหน้า 2565 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว
ดังนั้นภาครัฐจึงเดินหน้าเร่งออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีถึงไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งก็มีการลุ้นมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม อาทิ ช้อปดีมีคืนที่จะฟื้นคืนชีพรวมถึงคนละครึ่งเฟส 4
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.สัมภาษณ์ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ถึงมุมมองเศรษฐกิจและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลเพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย โดยนายปริญญ์ มองว่า วิกฤตจากโควิด-19 ทำให้เราต้องปรับตัวรับเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจที่เติบโต จะมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก และเชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจก็จะดีกว่าปีนี้
“จากการที่เราเห็นวิกฤตโควิดในปีนี้ทั้งปี ที่มันหนักขึ้นกว่าปีที่แล้ว ทำให้เรารู้ เราต้องเร่งปรับตัว เพราะฉะนั้นในเรื่องระยะสั้นจริงๆไม่ห่วงมากนักในแง่ของตัวเชื้อโรคโควิด แต่ผมกำลังเป็นห่วงในแง่มิติที่ว่า เราเห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงแบบเอกซ์โพเนนเชียล แบบของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มันถาโถมเข้ามา มันเปลี่ยนเร็วมา** เพราะฉะนั้นงานที่มัน เรียกว่าใหม่ๆ ที่มีก็มีเยอะขึ้น แต่ในขณะเดียวกันงานเก่าๆก็หายไปเยอะ แล้วงานใหม่ที่มา คนยังไม่มีทักษะสมรรถนะที่จะมาทำงานใหม่ๆได้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นปัญหาของเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้น ผมเชื่อว่าปีหน้ายังไงก็ดีกว่าปีนี้ เพราะว่าวัคซีนก็จะมาเต็มที่ถึงแม้ว่าจะมีโอไมครอนทำให้คนกลัวเล็กน้อย แต่ผมเชื่อว่ายังไงเศรษฐกิจปีหน้าดีกว่าปีนี้”
นอกจากนี้ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า การส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกังวลเรื่องแรงงาน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องสร้างแรงงานฝีมือให้เพิ่มมากขึ้น
“ที่ผมกังวลมากกว่าก็คือว่า ในเชิงโครงสร้างเราขาดแรงงานไร้ฝีมือ เราขาดทักษะสมรรถนะยุคใหม่ที่มันจะไปต่อเติมเครื่องจักรที่จะเติบโตในอนาคต เพราะฉะนั้นเราก็ยังพึ่งการส่งออกเป็นพระเอกอยู่ ซึ่งการส่งออกก็ยังเติบโตได้ดี อย่างที่เราเห็น ส่วนหนึ่งก็มาจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง อีกส่วนหนึ่งก็มาจากการที่แน่นอน กระทรวงพาณิชย์บุกตลาดใหม่ๆเยอะ ผมเชื่อว่าส่งออกก็ยังเป็นพระเอกในระยะสั้นได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ส่งออกมันยังพอไปได้อยู่เพียงแต่ว่า การเติบโตภายในประเทศยังจะต้องมีอะไรมากกว่านี้เพราะว่าระยะสั้นมันอาจจะมีเงินหมุนเงินชดเชย เงินเยียวยารวมถึงว่าเริ่มเปิดประเทศบ้าง ก็จะมีกิจกรรมกลับมาบ้าง แต่ถ้าเกิดมันจะเดินหน้าเติบโตยังเดินหน้าต่อปีหน้า ก็คงต้องมีมาตรการที่เกี่ยวกับการสร้างงานหรือสร้างแรงงานฝีมือให้เพิ่มมากขึ้น”
และเมื่อถามต่อว่า รัฐบาลควรที่จะแอ็กชั่นเรื่องอะไรมากที่สุดเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจในเวลานี้ “นายปริญญ์” ตอบว่า จะต้องเดินหน้ายุทธศาสตร์สร้างคน สร้างแรงงาน ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณก็ควรที่จะมุ่งให้ตรงจุด
“รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ว่า คุณจะสร้างแรงงานฝีมือให้เพิ่มขึ้น ที่จำนวนมากๆได้อย่างไร เพราะว่าตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลทำไปเยอะแล้ว ก็คือการที่อาจจะเรียกว่าแจกเงินในเชิงเยียวยา ในเชิงโครงการต่างๆที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน มันก็ทำให้ มีความรู้สึกว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนในระดับหนึ่งได้ นั่นก็คือระยะสั้นที่ทำไปแล้ว แต่ผมคิดว่าเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งทำก็คือการที่ขับเคลื่อนให้เห็นแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างคนให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในเร็ววัน เพราะว่าจริงๆแผนมีนะครับ ไม่ใช่ไม่มี ถ้าไปอ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือแผนของสภาพัฒน์ฯมี แต่ว่าสำคัญไม่แพ้กับแผนคือมีกลไลในการที่จะทำ แล้วส่วนการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆผมคิดว่ารัฐคงพยายามทำอยู่แล้ว และก็หวังว่าปีหน้าต้องเห็นความสำคัญของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ตรงจุดในปีหน้าด้วย”
และนี่ก็เป็นมุมมองของ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ประชาธิปัตย์ กับห่วงจังหวะขอการร่วมขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งจากนี้ต่อไป จะต้องติดตามมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะยิ่งใกล้ปีใหม่มากขึ้นเท่าไร มาตรการทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงไปยังคะแนนนิยมของรัฐบาลก็จะเข้มข้นมากขึ้นนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news