4% เป้าส่งออกปีเสือโควิดจะเหลือมั้ย
4%เป้าส่งออกปีเสือโควิดจะเหลือมั้ย
กระทรวงพาณิชย์กำหนดเป้าหมายการส่งออกของประเทศในปี 2565 ไว้ที่ร้อยละ 3-4 โดยมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกเติบโต ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนนั้นยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์นัดส่งท้าย ปี 2564 ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานนั้น ได้มีการกำหนดเป้าหมายการส่งออกในปี 2565 ร่วมกันกับภาคเอกชนไว้ที่ร้อยละ 3-4 โดยนายจุรินทร์ บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกขยายตัวได้นั้น คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ในปี 2565 OECD คาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 ส่งผลกับการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่ขยายตัวขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ประกอบกับค่าเงินบาทที่มั่นใจว่ายังคงอ่อนค่าอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการมีผลบังคับใช้ของความร่วมมือ RCEP ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวดีขึ้น
แต่ปัจจัยเสี่ยงที่การส่งออกของไทยยังต้องเผชิญ คือการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งสินค้ารวมถึงปัญหาค่าขนส่งที่มีการปรับค่าระวางเรือที่สูงขึ้น แต่เชื่อว่าเมื่อมีการผลิตตู้สินค้าเพิ่มขึ้นสถานการณ์ต่างๆจะคลี่คลายลง โดยสินค้าที่จะขยายตัวได้ดีในปี 2565 นั้น คือสินค้าเกษตร อาหาร สินค้าสำหรับ work from home สินค้าเวชภัณฑ์และสินค้าที่ใช้ผลิตเพื่อการส่งออก
ในขณะที่ภาคเอกชน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีความใกล้ชิดทำให้การแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก ทำได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งการส่งออกในปี 2565 เป้าหมายที่กำหนดร่วมกันร้อยละ 3-4 เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่ภาคเอกชนประเมินไว้ โดยปัจจัยที่มีผลกับการส่งออกมากที่สุดนั้น คือ ค่าเงินบาทที่ยังคงอ่อนค่าอยู่ที่ประมาณ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การเตรียมในเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลซึ่งถือเป็นหลักประกันในการสร้างภูมิคุ้มกันภายในประเทศ และการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. บอกว่า ทางภาคเอกชนมีความเป็นห่วงสถานการณ์ด้านแรงงานที่เวลานี้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีตัวเลขการขาดแคลนแรงงานอยู่ที่ประมาณ 2-4 แสนคน ต้องการให้ภาครัฐ มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านให้เร็วที่สุด และเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายและสถานที่ ในการกักตัวของแรงงานต่างด้าวก่อนที่จะเข้าสู่ระบบการผลิต เพื่อไม่ให้การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกหรือสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศได้รับผลกระทบ โดยการขาดแคลนแรงงานอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews