หมูแพงจากต้นทุนพุ่งโก่งราคาขายไม่ออก
หมูแพงจากต้นทุนพุ่งโก่งราคาขายไม่ออก หน้าฟาร์มขายอยู่ที่ 110 บาท หน้าเขียง 220 บาท
ทุกวันนี้เราซื้อหมูรับประทานกันกิโลละเท่าไหร่ แล้วทำไมหมูที่มาถึงมือผู้บริโภคถึงมีราคาแพง วันนี้เราจะมาหาคำตอบให้ อาจไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดที่ทำให้หมูหน้าเขียงในตลาดต่างๆมีราคาพุ่งสูงทะลุเกินกิโลกรัมละ 200 บาท แต่สาเหตุหลักเวลานี้คือปริมาณหมูในประเทศลดลง ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค เนื่องจากโรคระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านทำให้ต้องฆ่าหมูไปเป็นจำนวนมาก แต่ผลกระทบเวลานั้นอาจยังเห็นไม่ชัด เพราะประเทศไทยอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยว ความต้องการในการบริโภคลดลง ปริมาณหมูที่หายออกไปจากระบบจึงไม่มีผลต่อราคา แต่เมื่อมีการเปิดประเทศปัญหาเนื้อหมูไม่เพียงพอจึงเห็นผลชัดเจนขึ้น
แต่ราคาขายในปัจจุบันสะท้อนต้นทุนที่สมเหตุสมผลหรือไม่ วันนี้นายภมร ภุมรินทร์ ประธานกรรมการสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเกษตรผู้เลี้ยงหมู บอกกับทีมข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเวลานี้ ขายอยู่ที่ กก.ละ 110 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศ และตามสูตรการคำนวณราคาขายเนื้อหมูในภาวะปกติจากราคาหมูหน้าฟาร์มจะคูณ 2 และบวกลบอีก 2 บาท ถึงจะเป็นราคาหน้าเขียง ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 220 บาท
แต่จากปริมาณหมูที่หายไปจากระบบทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคส่งผลทำให้ราคาปลายทางสูงขึ้น จะให้บอกเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะเวลานี้คนกลางหรือโรงชำแหละต่างๆ เมื่อซื้อหมูแล้วต่างมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากราคาที่ผันผวนรวมถึงมีต้นทุนที่ต้องแบกรับ แต่เชื่อว่าไม่มีใครอยากขายหมูแพงจนผู้บริโภคไม่สามารถรับได้ หันไปบริโภคเนื้อชนิดอื่นๆ เพราะในที่สุดแล้วจะเกิดปัญหาทั้งระบบแน่นอน
การเจรจาขอความร่วมมือจากทางภาครัฐในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องที่ควรทำเพื่อลดความร้อนแรงของราคา โดยช่วงตรุษจีนนี้ ราคาไม่น่าจะถึงกิโลกรัมละ 300 บาท
สำหรับการตัดสินใจกลับมาเลี้ยงหมูใหม่นั้น นายภมร บอกกับทีมข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า อาชีพเลี้ยงหมูเป็นอาชีพดั้งเดิม หากเป็นไปได้ก็อยากกลับมาเลี้ยงอีก จากก่อนหน้านี้มีการทำฟาร์มเป็นของตัวเอง และเลี้ยงหมูขุนอยู่ที่ 1,500 ตัว หลังจากเกิดโรคระบาดทำให้ต้องฆ่าหมูและหยุดเลี้ยงทั้งหมด เวลานี้ได้พักโรงเรือนไปแล้ว 11 เดือน ไม่มีรายได้ ก่อนจะตัดสินใจกลับมาเลี้ยงใหม่ อยากให้มีความชัดเจนในเรื่องของแหล่งเงินกู้ สำหรับเกษตรกรรายย่อย เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสียในอนาคต รวมถึงการจัดทำระบบ การเลี้ยงใหม่ทั้งหมดเพื่อไม่ให้เกิดเป็นวังวนการระบาดของโรคอีกครั้ง เพราะหากระบบไม่ได้รับการแก้ไข การลงทุนใหม่ก็มีความเสี่ยงที่จะขาดทุน และเป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถรับได้ แต่การปรับปรุงระบบหรือทำให้โรคระบาดหมดอาจใช้เวลานานนับปี
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การจำหน่าย เนื้อหมูในเวลานี้เชื่อว่าหากมีสต๊อกอยู่ไม่มีใครอยากเก็บหมูไว้เพื่อโก่งราคาเพราะเนื้อหมูเป็นสินค้าที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ถึงแม้จะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ เนื้อหมูแช่แข็งกับเนื้อหมูชำแหละสด ลูกค้าจะเป็นคนละกลุ่มกัน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกักตุนหมูเพื่อขายเอากำไรสูง เพราะถึงช่วงราคาหนึ่งจะไม่มีคนซื้อและเสี่ยงที่จะขายสินค้าไม่ได้ในที่สุด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews