Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

เคาะแล้ว ถกซักฟอก 17-18 ก.พ.ฝ่ายค้านพร้อมถล่ม

เคาะแล้ว ถกซักฟอก 17-18 ก.พ.ฝ่ายค้านพร้อมถล่ม

 

การประชุม 3 ฝ่าย ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นประธาน โดยมีตัวแทนรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลเข้าร่วม ร่วมกับประธานและตัวแทนวิป ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล อาทิ นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล นายสุทิน คลังแสงประธานวิปฝ่ายค้าน เข้าร่วม และมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมสังเกตการณ์ เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 แบบไม่ลงมติ

 

โดยนายสุทิน ประธานวิปฝ่ายค้านเปิดเผยว่า ทั้ง 3 ฝ่าย ตกลงกัน ที่ 30 ชั่วโมง กำหนดการอภิปราย 2 วัน คือ วันที่17 กุมภาพันธ์ เริ่ม 09:30 น ถึง 24:30 น และ วันที่18 กุมภาพันธ์เริ่ม 09.00-24.00น. โดยฝ่ายค้านได้เวลา 22 ชั่วโมง ครม. ได้ 8 ชั่วโมง พร้อมยืนยันจะใช้เวลาของสภาให้เป็นที่พึ่งของประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยฝ่ายใดประท้วงจะต้องหักเวลาของฝ่ายนั้น

 

ด้านนายนิโรธ ประธานวิปรัฐบาล เห็นว่า การอภิปรายของฝ่ายค้านเป็นประโยชน์ที่จะได้อภิปรายชี้จุดข้อบกพร่องของรัฐบาล จึงให้เวลาฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ 22 ชั่วโมง ทางฝ่าย รัฐบาลก็มั่นใจว่า จะสามารถตอบได้ จะใช้เวลาแค่ 8 ชั่วโมงในการตอบชี้แจง ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการอภิปรายการดำเนินมาตรา 152 โดยขอให้ใช้เวลาการอภิปรายสร้างสรรค์ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่าครั้งนี้คงไม่มีการประท้วง

 

ด้านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อสรุปของการกำหนดวันอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ว่า เรื่องวันเวลาอภิปราย ฝ่ายรัฐบาลได้ให้เวลามาแค่วันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 แต่เมื่อดูเนื้อหาแล้ว คาดว่าเวลาที่ได้ 2วัน เมื่อเฉลี่ยจะได้แค่ 30ช.ม. แต่ฝ่ายค้านขอไป 36 ช.ม. ซึ่งช่วงบ่ายนี้จะหารืออีกครั้ง

ซึ่งเมื่อแบ่งเวลาแล้วฝ่ายค้านจะต้องได้ไม่ต่ำว่า24 ช.ม.โดยเนื้อหาแบ่งกันชัดเจน ของแต่ละพรรคที่จะอภิปราย โดยแบ่งเป็น4 กลุ่ม

1.วิกฤติเศรษฐกิจ ด้านต่างๆ

2.เรื่องโรคระบาดต่างๆ ทั้งคนทั้งสัตว์

3.เรื่องวิกฤติการเมือง การปฏิรูปการเมือง กลไกวิธีการเข้าสู่อำนาจการเมือง โดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้ง

4.เรื่องปัญหาเฉพาะหรือเรียกได้ว่าปัญหาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลโดยรวม

 

ดังนั้น ต้องชี้แจงให้วิปรัฐบาลเห็นว่าการอภิปรายตามมาตรา152 จะเทียบกับการอภิปรายตามมาตรา 151 ไม่ได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับประเด็นที่ยื่น ซึ่งปีนี้ประเด็นเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติและมีผู้อภิปรายจำนวนมาก หากไม่ขยับเวลาไป3วัน ก็จะใช้เวลาให้ได้มากที่สุดให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิม คือ 36 ช.ม. ซึ่งการอภิปรายแบบไม่ลงมตินั้นเพื่อถามเท็จจริงเสนอแนะรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แต่แม้จะไม่มีการลงมติก็เชื่อว่า ทุกพรรคการเมืองจะตบท้ายประโยคด้วยคำว่านายกรัฐมนตรีควรลาออกได้แล้ว ควรยุบสภาหรือคืนอำนาจให้กับประชาชน

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube