โควิดโรคประจำถิ่นก.ค.ปิดประตู”ล็อกดาวน์”
แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังสูงเกิน 2 หมื่นคนต่อวัน แต่นักวิเคราะห์ เชื่อว่า แนวทางการบริหารจัดการของรัฐยังเอาอยู่ เห็นได้จากแผนการรองรับให้โควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบ โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 มี.ค.- ต้นเม.ย. จัดการไม่ให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงมาก
ระยะที่ 2 เม.ย.-พ.ค. ให้การติดเชื้ออยู่ในระนาบ และค่อยๆลดลง
ระยะที่ 3 ปลายพ.ค.- มิ.ย. ให้การติดเชื้อลดลงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ คือ 1,000-2,000 รายต่อวัน
และระยะที่ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป คือ เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
ซึ่งในมุมมอง ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุว่า แผนการข้างต้นนับว่าสอดคล้องกับประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อของ ศบค. ที่ประเมินว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อยๆลดลงไปสู่ระดับใกล้เคียงกับก่อนการระบาดของ Omicron โดยจากแผนการล่าสุด นับเป็นการตอกย้ำว่าภาครัฐจะไม่กลับไป Lockdown
ดังนั้น เมื่อความเชื่อมั่นเกิดขึ้น ส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทย ซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” บอกกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหาแนวทางและแผนการตลาดในการกระตุ้นการท่องเที่ยว ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยจะต้องมีความปลอดภัยสูงสุด ทั้งนี้ การท่องเที่ยวที่ดีจะต้องมาควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเข้าพักโรงแรมทุกโรงแรมปัจจุบันจะต้องแสดงผลการตรวจ ATK ก่อน 72 ชั่วโมงพร้อมกับเอกสารหลักฐานใบรับรองการรับวัคซีนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ส่วนความคืบหน้าการดึงนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบียมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย หลังจากที่ไทยได้มีการสานความสัมพันธ์และได้จัดแผนการตลาดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากรัฐบาลซาอุฯเป็นอย่างดี โดยส่งนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวที่ไทยมากขึ้น ซึ่งจากการหารือและพูดคุยกับนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ พบว่า ต้องการมาเที่ยวที่ไทยเป็นจำนวนมาก และในปีนี้ตั้งเป้ารับนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ 2 แสนคน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของนายกฯ และในปี 2566 ตั้งเป้า 5 แสนคน ส่วนภาพรวมนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางปีนี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 5 แสนคน ปี 2566 ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน โดยกระทรวงฯจะพยายามผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
จากนี้ต่อไป จะต้องจับตาการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศและโควิด-19อย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews