เปิดศักราชปี2565 ประเทศไทยมั่นใจการส่งออกยังเป็นพระเอกช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เพราะถึงแม้จะมีปัจจัยกดดันมากมาย แต่ในปีที่ผ่านมาการส่งออกในภาพรวมยังคงเติบโตได้อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 17.14 ซึ่งเป็นตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี และเดือนมกราคมปีนี้การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องที่ ร้อยละ 8.0
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ โดยตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4 เนื่องจากมองเห็นปัจจัย การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจึงต้องกำหนดตัวเลขด้วยความระมัดระวัง
แต่ล่าสุดปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน จะเป็นปัจจัยหลักกดดันการส่งออกของประเทศ เพราะถึงแม้ว่าการส่งออกโดยตรงระหว่างไทยรัสเซียและยูเครนจะมีตัวเลขไม่มากนัก แต่ผลกระทบทางอ้อมต้องยอมรับว่าหนัก ปิดท่าเรือสำคัญ 2 แห่ง การขนถ่ายสินค้าล่าช้า ราคาน้ำมัน,ค่าระวางเรือพุ่งขึ้นไม่หยุด เป็นต้นทุนทำให้ผู้ส่งออกต้องคิดหนัก และจนกว่าจะมีทางออกที่ดี ซึ่งไม่รู้ว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกมากน้อยแค่ไหน ผู้ส่งออกไทยคงต้องเตรียมตัวรับมือกับปัญหาคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว ซึ่งเวลานี้เริ่มเห็นผลเกิดขึ้นแล้ว
โดยนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเวลานี้ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยมีลูกค้าในฝั่งสหภาพยุโรป ชะลอคำสั่งซื้อสินค้าแล้ว เนื่องจากการขนถ่ายสินค้ามีปัญหาหลังจากท่าเรือในรัสเซียและยูเครนถูกปิด ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถนำเข้าสินค้าได้ตามกำหนดหรือไม่
ในขณะที่ผู้ส่งออกต้องระมัดระวังในเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากมีปัญหาของกระแสเงินสด การขาดสภาพคล่องของคู่ค้า และสถานการณ์สงครามทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมีผลกระทบโดยตรงต่อค่าระวางเรือขนส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยมองว่าสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือจะสามารถผ่อนคลายลงได้แล้ว แต่สงครามทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับมาชัดเจนอีกครั้ง โดยค่าระวางเรือไปยังสหภาพยุโรปเวลานี้ปรับราคาสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 400,000 บาท ต่อ1ตู้ขนาด 40 ฟุต ต่างจากช่วงเวลาปกติที่ค่าระวางเรือ จะอยู่ที่ 2,000-3,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้
และสงครามยังทำให้การหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์เส้นทางสหภาพยุโรปเริ่มล่าช้าเพราะไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้ตามปกติ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในรัสเซียยูเครนและสหภาพยุโรป ในอนาคตมองว่าปัญหาจะเกิดขึ้นในฝั่งอเมริกาด้วย เพราะต้นทุนของราคาน้ำมันจะสะท้อนออกมาเป็นค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโอกาสที่ค่าระวางเรือจะปรับตัวลดลงอยู่ในภาวะปกติอย่างเช่นก่อนหน้านี้แทบไม่มีความหวัง สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือสินค้าเกษตรที่มีน้ำหนักมาก,เน่าเสียง่าย,ราคาไม่แพง เพราะค่าสินค้าส่งออกไม่คุ้มกับค่าระวางเรือที่สูง การถูกยกเลิกหรือชะลอคำสั่งซื้อจึงเห็นชัดเจนขึ้น
โดย สรท.มองว่า ปัญหาระหว่างรัสเซียกับยูเครนควรได้ข้อยุติภายในเดือนนี้ ว่าสงครามจะสงบหรือยกระดับความรุนแรง เวลานั้นการประเมินผลกระทบของภาคส่วนต่างๆจะมีความชัดเจนขึ้น และแน่นอนว่าการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ความหวังให้การส่งออกเป็นพระเอกพลิกฟื้นเศรษฐกิจจะทำได้หรือไม่คงต้องรอดู
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews