เสียงสะท้อนของประชาชนกับวิกฤตน้ำมันแพง ดังขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนได้จากผลสำรวจดุสิตโพล ล่าสุด ชี้ชัดว่า เรื่องที่คนหนักใจมากที่สุด คือ ของแพง น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง
ดังนั้นในห้วงที่จังหวะน้ำมันแพง เราจึงเห็นภาพที่ผู้ใช้รถต่างจับจ้อง ลุ้นระทึกกับราคาน้ำมันในช่วงเย็นของทุกๆ วันว่า ผู้ค้าจะแจ้งปรับราคาขึ้น-ลงซึ่งมีผลตี 5 ของวันรุ่งขึ้นหรือไม่ เพื่อที่จะวางแผนเติมน้ำมัน
แน่นอนว่า น้ำมันที่ขึ้น-ลงช่วงนี้ คือ กลุ่มเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ที่มีแต่รถบ้าน รถมอเตอร์ไซค์ เป็นลูกค้าหลัก แต่สำหรับดีเซล รัฐบาลยังคงกัดฟันตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรถึง 30 เม.ย.2565 ก่อนที่จะปรับโหมดเป็นคนละครึ่ง คือ รัฐจะช่วยส่วนที่ราคาเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง
ทั้งนี้ การดูแลราคาน้ำมันเป็น 1 ใน 10 มาตรการรัฐที่ออกมาบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ภายใต้งบประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเชียพลัส มองว่า ในระยะถัดไป หากภาครัฐต้องเน้นมาตรการเยียวยาบ่อยครั้งขึ้น มีโอกาสส่งผลให้ภาระทางการคลังของรัฐเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นตาม โดยปัจจุบัน ไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 59.88% ต่อ GDP ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อ
ดังนั้นการปรับเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สาธารณะอาจกดดันความสามารถในการใช้จ่ายของรัฐในอนาคตได้ โดยเฉพาะในระยะต่อไปที่การระบาดโควิด-19 เริ่มบรรเทาลง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่เคยดำเนินไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ใกล้ครบกำหนด ซึ่งตอนนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีบทบาทที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น
ขณะที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช” เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า 10 มาตรการที่รัฐบาลประกาศออกมา ไม่เพียงพอ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในเวลานี้คือ รัฐบาลจะต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่านี้ เพื่อที่คนจะได้มีงานทำ มีค่าแรงที่สูงขึ้น สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ซึ่งรัฐบาลควรที่จะเปิดประเทศเต็มที่เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว เร่งการส่งออก ทั้งนี้ ขอเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 500 บาท และควรที่จะปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันทุกชนิดลงครึ่งหนึ่ง จากเดิมที่จัดเก็บได้ปีละ 2 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชน
(ปล่อยเสียง สุชาติ-01) “ประชาชนเดือดร้อนเป็นเพราะว่าต้นทุนการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ว่าตัวประชาชนแต่ละคนไม่มีงานทำ ค่าแรงที่ทำอยู่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นการออก 10 มาตรการเป็นการออกแบบที่ว่าไปกู้เงินมาอุดหนุน ซึ่งมันไม่เพียงพอ คือจริงๆ แล้วรัฐบาลจะต้องทำให้ประชาชนมีงานทำ แล้วก็มีค่าแรงที่สูงขึ้น ดูแลตัวเอง ทีนี้การที่จะขึ้นค่าแรงก็ดีขึ้น ทำให้คนมีโอกาสทำงานก็ดี รัฐบาลก็ต้องทำให้ประเทศเจริญเติบโตมากกว่านี้ ปีนี้ประเทศก็ไม่เจริญเติบโตเลย 2- 3% เค้าก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ค่าแรงเพิ่มหรือว่าได้โอกาสทำงาน”
นอกจากนี้ อดีตรัฐมนตรีฯคลัง “นายสุชาติ” ยังมองว่า การที่รัฐบาลกู้เงินมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศชาติเสียเครดิต เหมือนคนจนไม่ได้ทำงาน แล้วไปกู้เงินมากินมาใช้
ดังนั้น จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการดูแลประชาชนทุกกลุ่มในห้วงจังหวะที่ทุกคนพูดแต่ของแพง ค่าแรงถูกนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews