การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ที่มีผู้สนใจชิงตำแหน่งนี้แล้วถึง 25 คน ทั้งในรูปแบบอิสระและสังกัดพรรคการเมือง หรืออาจมีเพิ่มอีก เพราะยังเหลือเวลาของการรับสมัครอีก 2 วัน
หลายคนอาจจะมองว่านี่เป็นการตื่นตัวทางการเมือง ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหลายคนอาจมองว่าเป็นเพราะการห่างหายไปนานถึง 9 ปี หรือบางคนอาจมองว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม มาเปิดตัวในสนามนี้ เพื่อเช็คผลตอบรับและฐานเสียงก่อนผันตัวเองสู่สนามใหญ่เลือกตั้ง ส.ส.ในต้นปีหน้า ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ผิด ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร และผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่จะเป็นใคร ก็ขึ้นอยู่กับคนกรุง ที่จะออกไปใช้สิทธิ์ว่าต้องการใคร เข้ามาเป็นผู้บริหารงบประมาณที่กรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรมาจากรัฐบาลในแต่ละปี ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท สำหรับการแก้ปัญหาและพัฒนาสิ่งต่างๆ สำหรับคนกรุงต่อไป
ทำเนียบ ผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้ง
1.พล.ต.จำลอง ศรีเมือง (2 สมัย ,14 พ.ย.28 – 14 พ.ย.32, และ 7 ม.ค.33 – 22 ม.ค.35)
2.ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา (1 สมัย 19 เม.ย.35 – 18 เม.ย.39)
3.นายพิจิตต รัตตกุล (1 สมัย, 2 มิ.ย.39 -1 มิ.ย. 43)
4.นายสมัคร สุนทรเวช (1 สมัย 23 ก.ค.43 -22 ก.ค.47)
5.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ( 2 สมัย 29 ส.ค.47 – 28 ส.ค.51 และ 9 ต.ค. 51 -19 พ.ย.51)
6.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร (2 สมัย 14 ม.ค.52 -9 ม.ค.56 และ 29 มี.ค.56-18 ต.ค.59)
งบประมาณ กทม. 10 ปีล่าสุด
ปี 2565 : 79,855 ล้านบาท
ปี 2564 : 76,451 ล้านบาท
ปี 2563 : 83,398 ล้านบาท
ปี 2562 : 80,445 ล้านบาท
ปี 2561 : 79,047 ล้านบาท
ปี 2560 : 75,635 ล้านบาท
ปี 2559 : 70,424 ล้านบาท
ปี 2558 : 65,442 ล้านบาท
ปี 2557 : 65,517 ล้านบาท
ปี 2556 : 60,527 ล้านบาท
สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในอดีตที่ผ่านมา เป็นสนามที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด เพราะตำแหน่งนี้ ไม่เพียง แต่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และได้รับผลตอบแทน ที่ไม่น้อยไปกว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลย โดยแบ่งเป็น เงินเดือน 72,060 บาท เงินเพิ่ม 41,500 บาท/เดือน รวม 113,560 บาทต่อเดือน และหากอยู่ครบ 4 ปี จะได้ประมาณ 5.4 ล้านบาท ซึ่งไม่มากเอาเสียเลย หรืออาจน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานบริษัทเอกชน หรือ ราชการของหลายๆคน ที่ลาออกมาชิงชัย แต่นั่นคงไม่ใช่เรื่องสำคัญ
เพราะสิ่งสำคัญน่าจะเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่า เพราะเมืองหลวงคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และสามารถเชื่อมโยงต่อท่อวางฐานการเมือง สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ในอนาคตได้ ดังนั้น การเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็น่าจะเข้มข้นดุเดือดไม่แพ้ ครั้งก่อนๆ เพราะแต่ละคน แต่ละพรรคล้วนมีเดิมพันที่สูงลิ่ว เป็นตัวผลักดันอยู่ทั้งสิ้น ทั้งพรรคที่ส่งผู้สมัครลงชิงชัยอย่างเป็นทางการ หรือบางพรรคที่ใช้วิธีการแอบเชียร์ แอบช่วย แอบสนับสนุน แอบลุ้นไปด้วยก็ตาม
ผลตอบแทน ผู้ว่าฯ กทม. และทีมงาน
1.ผู้ว่าฯ กทม. เงินเดือน 72,060 บาท เงินเพิ่ม 41,500 บาท/เดือน รวม 113,560 บาทต่อเดือน
2.รองผู้ว่าฯ กทม. เงินเดือน 69,570 บาท เงินเพิ่ม 20,750 บาท รวม 90,320 บาทต่อเดือน
3.เลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เงินเดือน 39,710 บาท เงินเพิ่ม 4,400 บาท รวม 44,110 บาทต่อเดือน
4.ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. เงินเดือน 35,750 บาท เงินเพิ่ม 2,200 บาท รวม 37,950 บาทต่อเดือน
5.ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. : เงินเดือน 43,490 บาท เงินเพิ่ม 8,800 บาท รวม 52,290 บาทต่อเดือน
6.ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เงินเดือน 39,710 บาท เงินเพิ่ม 4,400 บาท รวม 44,110 บาทต่อเดือน
และจากสถานการณ์การเมืองภาพใหญ่ในวลานี้ ที่รัฐบาลก็กำลังระส่ำระสาย ต้องงัดสารพัดวิธีการมามามัดใจ ตรึงคะแนนเสียงจากพรรคเล็กไม่ให้ตีจาก ป้องกันการถูกล้มโดยกลไกสภา
อภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมหน้า ที่จะเปิดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เวทีผู้ว่าฯ เมืองหลวง ครั้งนี้ จึงอาจกลายเป็นดัชชนีชี้วัดเรตติ้งทางการเมืองสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ที่อาจจะมีขึ้นเร็วที่สุดคือในปีนี้ หรือช้าที่สุด ในช่วงต้นปีหน้าด้วยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews