คว่ำบาตรรัสเซียปั่นป่วนทั่วโลก
คว่ำบาตรรัสเซียสะเทือนไปทั่วโลกไม่เกินจริง สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนไม่ใช่การสู้รบของสองประเทศอีกต่อไป เมื่อชาติมหาอำนาจและชาติพันธมิตร ใช้มาตรการทางการเงินคว่ำบาตรรัสเซียอายัดทรัพย์สินของธนาคารบางแห่ง ตัดออกจากระบบ SWIFT ไม่ให้ธนาคารกลางของรัสเซียทำธุรกรรมสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าอย่างรุนแรง เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยและอาจเจอความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อและการผิดนัดชำระหนี้
โดยรัสเซียก็ไม่ได้อยู่เฉย ตอบโต้ด้วยการออกประกาศบังคับให้บรรดาประเทศผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียต้องใช้สกุลเงินรูเบิลเท่านั้น แน่นอนว่ามีหลายประเทศในฝั่งตะวันตกและสหภาพยุโรป ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียไม่สามารถตัดขาด เพราะอาจเจอความเสี่ยงวิกฤตพลังงานได้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าทันที ทำให้นักลงทุนทยอยซื้อคืนทองคำในตลาดโลกที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น แม้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ลดความร้อนแรงของราคาทองคำ
ในขณะที่การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้เศรษฐกิจโลกเวลานี้ได้รับผลกระทบทั้งจากการสู้รบและสงครามคู่ขนานทางการค้า เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยเกิดความปั่นป่วนทั่วโลกจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศ สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ในขณะที่ประเทศไทยอัตราเงินเฟ้อในช่วงเดือนมีนาคม ขยายตัวร้อยละ 5.73 สูงสุดในรอบ 13 ปี โดยนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กระทรวงพาณิชย์ บอกว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยไม่ได้สะท้อนมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างหน้ากังวล เพราะทุกประเทศกำลังได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน การแก้ไขปัญหาและการเยียวยาไม่สามารถทำได้แบบเบ็ดเสร็จเนื่องจากผลกระทบของราคาสินค้ามีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายอาจต้องแบกรับภาระ
และล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้สูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.5-5.5 ตัวเลขสูงจนน่ากังวล ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจปรับประมาณการลงเหลือร้อยละ 2.5-4.0 เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งการระบาดของโควิด-19 การปรับมาตรการดูแลอาจมีผลกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และราคาสินค้าที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ไม่สามารถคาดเดาได้
จะเดินหน้าอย่างไร ไม่มีใครจะตัดสินได้ ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด การรับรู้สถานการณ์วางแผนรับมือลดผลกระทบสำหรับตัวเองให้น้อยที่สุด ทุกฝ่ายอาจต้องดูแลตัวเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews