หลังช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ หรือ “ปีใหม่ไทย”จบลง มีหลากหลายประเด็นที่รัฐบาลชุดนี้ต้องรับมือทั้งเรื่องสถานการณ์โควิด สภาวการณ์เศรษฐกิจ และความรุ่มร้อนทางการเมือง หรือเสถียรภาพการเมือง จากหลายปัจจัยเสี่ยง ที่ต้องลุ้นระทึก ว่าผู้กุมบังเหียนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร จะบริหารจัดการอย่างไร ให้อยู่ถึงวันฉลองรอบ 8 ปีแห่งการรัฐประหาร 22 พ.ค.2565
ประเด็นแรกเป็นเรื่องความเป็นความตาย ความเจ็บป่วย ของพลเมืองในประเทศ เพราะจากตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข และศบค. ผู้ที่ติดโควิด-19 รวมตรวจ ATKด้วย อยู่ที่หลายหมื่นรายต่อวัน และหลายอาจารย์หมอได้คาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์ตัวเลขอาจพุ่งถึงหลักแสนราย ภายใต้เหตุผลว่ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาทั่วประเทศ อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวอีกครั้ง
ประเด็นต่อมาคือเรื่อง “วิกฤติเศรษฐกิจ” ที่ทั่วโลกเจอปัญหาราคาพลังงานที่แพงขึ้น บวกกับสภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ทำให้มีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง รายได้ครัวเรือนยังจมดิ่งจากโควิด ทำให้ “อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ” หลายรายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยตำหนิการอัดนโยบายประชานิยม จนทำงบประมาณแบบขาดดุลยาวนาน กระทบฐานะการคลังระยะยาว
นอกจากนี้ชาวรากหญ้า ยังได้รับผลกระทบโดนตรงจากการปรับราคาสินค้าขึ้น เพราะรัฐบาลไม่พยุงราคาน้ำมันดีเซลได้อีกต่อไป ดังนั้นหลังสงกรานต์นี้ราคาข้าวของอุปโภค-บริโภคจะต้องปรับราคาขึ้น ไม่เท่านั้น อาจจะเกิดสินค้าขาดตลาดด้วย ซึ่งหน่วยงานรัฐ แก้ปัญหาแบบเดิมๆด้วยการขอร้องให้ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าตรึงราคาต่อไปและจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นต่อมาคือเรื่องความเชื่อมั่นของรัฐบาล จากกรณีปรากฏคลิปเสียงของ “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่ออกแอ๊คชั่นการแก้ปัญหา “หวยแพง” ทำให้ถูกตั้งคำถามตัวโตๆว่าแก้ปัญหา “หวยแพง” เพื่อทุบนายทุนกลุ่มอื่น แล้วเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเองหรือไม่
ประเด็นต่อมาคือการ “ประหารชีวิตทางการเมือง” จากคดีของ “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ กรณีบุกรุกพื้นที่ป่าใน จ.ราชบุรี ซึ่งมีการรายงานข่าวว่ามีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ไม่ว่าจะเป็นตัวเองหรือคู่สมรส ที่มีการถือครองที่ดินที่อาจมีปัญหาหลายรายซึ่งถ้าสามารถชี้แจงที่มาที่ไป ก็ไม่เป็นปัญหา แต่กระแส ปารีณาได้กระตุ้นให้สังคมตรวจสอบว่ามีผู้อิทธิพลรายอื่นๆมีการบุกรุกที่ป่า หรือครอบครองที่ดินอย่างผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
ประเด็นต่อมาคือการเมืองที่จะร้อนแรงเพิ่มขึ้น เพราะหลายๆ พรรคมีการเตรียมตัวลงสู้ศึกเลือกตั้งกันแล้ว และ ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. พรรคเพื่อไทย นัดประชุมพรรคฝ่ายค้านเพื่อสรุปวันยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแต่สนามที่ร้อนแรงในเร็วๆนี้คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่น่าจะชิงดำระหว่าง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ฝั่งตรงข้ามรัฐบาล และ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ขวัญใจฝ่ายรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรู้ถึงปัจจัยรุมเร้าเหล่านี้เช่นกัน ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงให้มีการเปิดเวทีเสวนาของรัฐบาลในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในงานด้านต่างๆ มาตอบข้อสงสัยในประเด็นที่ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ยังมีคำถามหรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน โดยให้ใช้เวทีสาธารณะนี้เป็นพื้นที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงรับฟังเสียงสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews