ไว้ใจไม่ได้ ส่งออกยังเสี่ยงสูง
ได้ตัวเลขอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 14.9 โดยมีตัวเลขส่งออกเดือนล่าสุด คือ มีนาคม ขยายตัวถึงร้อยละ 19.5 คิดเป็นมูลค่ากว่า 28,859 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงสุดในรอบ 30 ปี
ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า การส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 3 หมวดที่ขยายตัวได้ดี คือ สินค้าเกษตร เกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเอื้อต่อการส่งออก ค่าระวางเรือไปยังสหภาพยุโรปเริ่มปรับตัวลดลง
แต่การส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเริ่มได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สงครามระหว่าง 2 ประเทศแล้ว ทำให้ตลาดรัสเซียการส่งออกในเดือนมีนาคมติดลบร้อยละ 73 และการส่งออกไปยูเครน ติดลบร้อยละ 66
แต่ยังคงมั่นใจว่า การส่งออกของประเทศจะยังเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ซึ่งในปีนี้เชื่อว่าการส่งออกข้าวจะมีปริมาณมากกว่าในปีก่อนหน้า ที่ 8 ล้านตัน เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูง เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในช่วงเกิดสงครามและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยตลอดทั้งปีกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4-5
แต่ใช่ว่าความเสี่ยงของการส่งออกจะหมดลงแล้ว หลายปัจจัยยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถึงแม้ว่าไตรมาสแรกการส่งออกจะขยายตัวได้ดี แต่ครึ่งปีหลังยังบอกไม่ได้ว่า การส่งออกของไทยจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
โดยนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยสํานักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ตัวเลขส่งออกล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.4 นั้น แต่เมื่อหักน้ำมันและทองคำ การส่งออกจะขยายตัวเหลือเพียงร้อยละ 8 ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขร้อยละ 10 ที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศให้ภาคเอกชนช่วยกันผลักดันหวังผลทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4
โดยการส่งออกของไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เวลานี้เริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ล่าสุด สรท. ได้เข้าหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการรับมือและสนับสนุนการส่งออกของประเทศให้เติบโตได้ ถือเป็นมาตรการสนับสนุนการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งภาคเอกชน มองว่า ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องของการขาดสภาพคล่อง และความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของประเทศคู่ค้าปลายทางที่จะมีมากขึ้น หลังจากผลกระทบของสงครามชัดเจนขึ้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews