ขึ้นค่าแรงรอปีหน้า เงินเฟ้อดุจ่อพุ่ง10%
“ของแพง ค่าครองชีพสูง” คือ เรื่องใหญ่ที่คนไทยกำลังเผชิญ ดังนั้นการเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานจึงเกิดขึ้น
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.พาไปติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน “นายสุชาติ ชมกลิ่น” ได้บอกกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ก่อนหน้านี้ว่า เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการค่าจ้างหารือกับไตรภาคีแต่ละจังหวัด เพื่อศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ
โดยย้ำว่า การขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ จะไม่ใช่อัตราเดียวกันทั่วประเทศ และเป็นไปไม่ได้ที่จะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส.ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องมายังรัฐบาล เพราะเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป เกรงว่าจะมีผลกระทบหลายด้าน
ซึ่งเรื่องนี้ “นายชาลี ลอยสูง” รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยกับ สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ถึงความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
โดยระบุว่า ล่าสุด ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ ของแต่ละจังหวัดกำลังจะส่งข้อมูลตัวเลขมายังกระทรวงแรงงาน ว่าในแต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นเท่าไร หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม บอร์ดคณะกรรมการค่าจ้างจะมีการพิจารณา ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนตุลาคมจะมีข้อสรุป แล้วรัฐบาลจะประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ในช่วงปีใหม่
สำหรับข้อเรียกร้องของ คสรท.คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศ จากปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่วันละ 336 บาท ต่ำสุด 313 บาท ซึ่งตัวเลข 492 บาท
“นายชาลี” กล่าวว่า ดูแล้วยังไม่พอด้วยซ้ำไป เพราะปัจจุบันของแพง ค่าครองชีพสูง ที่สำคัญอัตราเงินเฟ้อปีนี้ยังพุ่งเกิดค่าเฉลี่ย 5% และถ้าภาครัฐคุมราคาสินค้าไม่อยู่ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อจะแตะ 10% อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการออกมา จึงเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อธุรกิจ
นอกจากนี้ นายชาลี ยังได้กล่าวถึง อัตราการว่างงานในปัจจุบันด้วยว่าอยู่ที่ประมาณ 6 แสนคน แต่ยังไม่รวมกับจำนวนนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งตัวเลขนี้ยอมรับว่าเป็นกังวล
ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้รายงานการว่างงานไตรมาส 1 ปี 2565 พบว่า ผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคน
ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 6.3 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 1.53 ต่ำที่สุดในช่วง COVID-19 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ลดลงต่อเนื่อง โดยผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีจำนวน 305,765คน คิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบที่ร้อยละ 2.7
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1) ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนยังคงเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวน 2.6 แสนคน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับผู้ว่างงานที่มีประสบการณ์ทำงานที่เริ่มปรับตัวลดลง 2)
ผู้ว่างงานระยะยาวยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยมีจำนวนถึง 1.7 แสนคน และ 3) การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาสูงยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราการว่างงานของผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 3.10
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการเคาะตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่จะได้ข้อสรุป ว่า ในแต่ละจังหวัดนั้นได้ปรับขึ้นเท่าไร เพราะแน่นอนว่าปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวย่อมมีผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล ไม่มากก็น้อยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnew