“กนง. เสียงแตก สัญญาณขึ้น ดอกเบี้ย.”
ในรอบสัปดาห์นี้ หลายฝ่ายคงล้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งที่ผ่านไปสดๆ ร้อนๆ แบบเสียงแตกครั้งแรกในการคงอัตราดอกเบี้ยที่การลงมติของคณะกรรมการไม่เป็นเอกฉันท์ จะถือเป็นสัญญาณการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาหากดูสถานการณ์จากทั่วโลกหลายประเทศมีการทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างในสหรัฐและอีกหลายแห่ง
ซึ่งความเห็นของ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ และอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้เปิดเผยกับทางสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งล่าสุดที่มติไม่เป็นเอกฉันท์แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการหลายท่านเริ่มเปลี่ยนท่าที ที่จะต้องปรับดอกเบี้ย จากการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ โดยมองว่าการประชุมครั้งหน้าของ กนง. อาจเห็นขยับขึ้นดอกเบี้ยได้ ร้อยละ 0.25 เนื่องจากที่ผ่านมาตัวเลขเงินเฟ้อปรับขึ้นทั่วโลกจากสาเหตุราคาพลังงาน ทำให้หลายประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งประเทศไทยเองอาจอยู่ในระดับที่ควรปรับขึ้นได้บ้าง เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ แต่ต้องจับตาเรื่องเงินทุนไหลออก และการฟื้นตัวเศรษฐกิจว่าจะฟื้นตัวได้เร็วหรือไม่
อย่างไรก็ตามในครึ่งปีหลังปัจจัยน่ากังวลยังคงเป็นเงินเฟ้อ และทิศทางราคาน้ำมัน แต่จะได้เครื่องยนต์หนุนเศรษฐกิจแนวโน้มที่จะดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นความหวังหลักตามอาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยจีดีพีของประเทศไทยทั้งปีนี้ยังเป็นไปตามแนวร้อยละ 3.3-3.5
ขณะที่ด้านการคลังอย่าง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้มีมุมมองว่า มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการ กนง. ส่วนใหญ่ยังเป็นห่วง และให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเร็วหรือช้าขึ้นกับ ทาง กนง. ที่จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ รอบด้าน โดยเฉพาะทิศทางดอกเบี้ยของต่างประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากหากมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า อาจทำให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออก และจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ซึ่งจากทั้งสองความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการคลังของประเทศจากนี้คงต้องมาติดตามว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะตัดสินใจอย่างไรในการประชุมครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้น จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นหรือไม่ และจะหยุดยั้งการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อควบคู่ไปกับการดูแลเงินทุนไหลออก และการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ตัดสินใจได้ยากและท้าทาย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews