ศึกใหญ่รุมเร้า เสร็จศึกซักฟอก
แม้รัฐบาลจะโล่งอกกับศึกซักฟอก 11 รัฐมนตรีที่จบลงด้วยคะแนนเสียงไว้วางใจอย่างท่วมท้น แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งศึกใหญ่ที่รุมเร้าบั่นทอนคะแนนนิยมรัฐบาล นั่นก็คือเรื่อง “เศรษฐกิจปากท้อง”
ในมุมมอง ประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” มองว่า แม้รัฐบาลจะก้าวผ่านอุปสรรคใหญ่นั่นคือการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาได้ แต่ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทั้งเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ค่าไฟที่จะขึ้น
รวมถึงราคาสินค้าที่จะขยับ หรือแม้แต่การดูแลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งขณะนี้ติดลบไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท คือ โจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข หลังจบซักฟอก
“รัฐบาลได้รับความไว้วางใจ ก็คือผ่าน อันนี้ก็คงทำให้รัฐบาล ก้าวพ้นปัญหาที่เป็นอุปสรรคใหญ่อันหนึ่งที่ผ่านมาได้ดีแล้ว แต่ว่าปัญหาข้างหน้าที่ยังค้างอยู่ก็คือภาวะเศรษฐกิจในเรื่องภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะที่เราทราบกัน ก็คือเรื่องน้ำมัน ของขึ้นราคาทุกชนิด
รวมทั้งค่าไฟที่อาจจะขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ก็ทำให้การนำเข้าพวกน้ำมัน วัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมทุกอย่างก็ส่งผลเงินเฟ้อต่อเนื่อง ซึ่งตอนนี้เงินเฟ้อไปที่ 7.66% เมื่อเดือนที่แล้ว และแนวโน้มถ้าเป็นแบบที่จะมีโอกาสที่จะไปมากกว่านี้
เพราะฉะนั้นเป็นโจทย์ใหญ่ และช่วงข้างหน้าที่จะตามมาก็คือ ช่วงปลายปี ไตรมาส 4 ช่วงปลายปี ซึ่งจะเป็นช่วงที่จะต้องมีการพิจารณาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ที่คาดว่าปีนี้ขึ้น แต่ก็ไม่รู้จะขึ้นเท่าไร แต่ว่าขึ้นแน่ ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมา”
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐบาลต้องคิดแล้วว่า ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนได้อย่างไร ยิ่งตอนนี้กองทุนน้ำมันก็ติดลบเป็นแสนล้าน ไหนจะค่าไฟฟ้าที่มีท่าทีว่าจะปรับขึ้นในช่วงเดือนส.ค. ถึง ธ.ค.
ขณะที่เหล่าบรรดาเอสเอ็มอี หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ยังมาเจอกับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นราคาสินค้าก็ทำไม่ได้มาก เนื่องจากกำลังซื้อก็ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องแบกรับภาระต้นทุนต่อไป และถ้าปัญหาทุกอย่างถาโถมเข้ามา ก็เกรงว่า เอสเอ็มอี จะแย่กันหมด และเมื่อถามต่อว่า ภาคเอกชนมองอย่างไรกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)
หลังจากจบอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเรื่องนี้ “ประธาน ส.อ.ท.” กล่าวว่า การปรับ ถ้าปรับแล้วเข้มแข็งขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น ก็อาจจะต้องทำ แต่ถ้าภาครัฐคิดว่า ตอนนี้มีเวลาเหลืออีกไม่มากก่อนที่จะครบวาระ แล้วเลือกตั้งใหม่ บางครั้งก็อาจจะไม่ต้องปรับ ซึ่งในทางการเมืองก็ต้องตัดสินใจ
“คะแนนของแต่ละคนที่ได้รับความไว้วางใจไม่เท่ากัน ผมคิดว่าอันนี้ก็เป็นหน้าที่ของท่านนายกฯและก็ครม. หรือคนที่เป็นแกนกลาง ในการที่คิดว่าการปรับครม. หรือไม่ปรับครม. ผมคิดว่านั่นเป็นหน้าที่ภาคการเมือง
ถ้าปรับ ก็คือปรับเพื่อบางตำแหน่งที่คิดว่า ปรับแล้วจะทำให้เข้มแข็งขึ้น และก็ทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น ก็อาจจะต้องทำ อันนี้เป็นเรื่องของภาครัฐ แต่ถ้าภาครัฐคิดว่า ตอนนี้เวลาเหลืออีกไม่มาก อีกไม่ถึง 200 กว่าวันก็จะมีการครบวาระ และก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว
บางครั้งก็อาจจะไม่ปรับ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ทางด้านการเมืองก็คงไปตัดสินกัน” และนี่ก็เป็นเสียงสะท้อนของภาคเอกชน กับปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขหลังจบศึกซักฟอก เพราะเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งถูกเดิมพันด้วยคะแนนเสียงของนายกฯ ลุงตู่และพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews