ชิปขาดส่งออกไม่หาย ดันเกษตร-อาหารช่วย
ตัวเลขล่าสุดของการส่งออกไทยเดือนกรกฎาคม ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 4.3 คิดเป็นมูลค่า 23,629 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวได้เพียง ร้อยละ 4.3 ในเดือนกรกฎาคมนั้น เป็นเพราะการส่งออกสินค้าสำคัญของไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.1 จากปัญหาของการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์
ซึ่งแหล่งผลิตร้อยละ 40 ของโลกอยู่ที่ไต้หวัน และกำลังมีปัญหาขัดแย้งกับประเทศจีนส่งผลต่อการผลิตสินค้าทั่วโลกไม่สามารถทำได้ตามแผนซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกันไม่ต่างจากหลายประเทศ
แต่จากความต้องการสินค้าอาหารของทั่วโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยยังคงเป็นที่ต้องการ โดยสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวถึงร้อยละ 38.1 และสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ไก่สด ข้าวสาร ยางพารา น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
และเชื่อว่ายังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง การส่งออกในภาพรวมจะยังรักษาระดับการขยายตัวไว้ได้ แม้จะมีผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตก็ตาม เพราะการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนั้น ยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11.5 คิดเป็นมูลค่ากว่า 172,814 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกนั้นจะยังมีผลต่อไปอีกระยะหนึ่ง
แต่ในมุมมองของภาคเอกชนมองว่า การส่งออกจะยังเดินหน้าต่อได้เพราะยังมีสัญญาณการเติบโตต่อเนื่อง จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ค่าระวางเรือเริ่มผ่อนคลายลงจากค่าพลังงานที่ปรับตัวลดลง รวมถึงสินค้าที่ประเทศไทยส่งออกเป็นสินค้าจำเป็นของโลก โดยเฉพาะสินค้าอาหารทำให้ความต้องการในตลาดโลกยังไม่ลดลง
ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกในเดือนกรกฎาคม ที่ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 4.3 นั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะการขยายตัวในช่วง 7 เดือนแรกของปียังเติบโตได้ถึงร้อยละ 11.5 ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบที่ภาคเอกชนประมาณการณ์ไว้ ว่าปีนี้การส่งออกจะเติบโตได้ร้อยละ 8-10 ซึ่งการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ในรูปแบบของ กรอ. พาณิชย์ ทำให้การแก้ไขอุปสรรคปัญหาของภาคเอกชนทำได้เร็วขึ้นจึงมีผลกระทบกับการส่งออกน้อยลง
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า แม้ตอนนี้ภาคเอกชนยังประคองตัวอยู่ได้ แต่อยากฝากถึงรัฐบาล หากมีช่องทางในการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ก็ควรทำ เพราะไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกรายจะรับไหว หากต้องแบกทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนด้านพลังงาน ค่าขนส่ง ดอกเบี้ย รวมถึงค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น หากเพิ่มสภาพคล่อง ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ อาจต่อลมหายใจของหลายคนได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews