Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

กฎ 180 วันก่อนครบวาระ…ใครได้เปรียบ

ภาพบรรยากาศการหาเสียง การลงพื้นที่ ควรจะคึกคักมากขึ้น เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 180 วันก็จะครบวาระของสภาชุดปัจจุบันแล้ว เปรียบเหมือนการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเต็มตัว

 

แต่จากข้อกฎหมาย และประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง “ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียง” กลับตรงกันข้าม พรรคการเมืองต่างๆ ออกอาการเซ็งไปตามๆ กัน เพราะระเบียบดังกล่าว เป็นเหมือนการผูกมัด ล่ามโซ่พรรคการเมือง ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เอาไว้ทั้งหมด จนแทบขยับตัวทำพื้นที่ไม่ได้ เพราะจะทำอะไรต้องคิดเป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้งทั้งหมด หรือจะทำอะไรบางอย่างก็ต้องระวัง อาจถูกร้องว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วยนั่นเอง

 

ซึ่ง”สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. และประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ได้สรุปสาระสำคัญของประกาศเอาไว้ดังนี้

 

1.กิจกรรมหาเสียงทั้งปวง ต้องคิดรวมเป็นค่าใช้จ่าย (เดิม เขตละ 1.5 ล้าน พรรค 35 ล้าน)
2.ภัยพิบัติ น้ำท่วม โรคระบาด เดิมพรรคช่วยประชาชนได้ไม่เกิน 3 ล้าน ผู้สมัคร ส.ส. ได้ไม่เกิน 3 แสน ตอนนี้ ห้ามช่วยแม้แต่บาทเดียว
3.แจกเงิน แจกของ ไม่ได้ทุกกรณี
4.ป้ายหาเสียงที่ขึ้นก่อน 180 วัน หากผิดขนาดที่กำหนด ต้องเอาลงหมด
5.พรรคจัดระดมทุนได้ จัดเปิดตัวผู้สมัครได้ ประชุมใหญ่สมาชิกได้
6.ป้ายหน่วยราชการ แฝงหาเสียง ระวังให้ดี
7.รัฐมนตรีไปตรวจงาน แยกให้ดี อย่าให้เป็นการหาเสียง
8.จำนวนป้าย ขนาดป้าย สถานที่ติด ให้ใช้กติกาเดิมในการเลือกตั้งปี 2562 ไปก่อน จนกว่าจะมีประกาศใหม่
9.การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ใช้หลักเกณฑ์แบบการเลือกตั้งปี 2562.

 

 

จะเห็นได้ว่า จากที่ อดีตกกต.”สมชัย” สรุปออกมานั้น ก็จะตามมาด้วยคำถามว่า การดำเนินการดังกล่าว จะสามารถควบคุมได้ทั้งหมดหรือไม่ กกต.ชุดปัจจุบันทั้ง 7 คนจะสามารถดำเนินการติดจตามตรวจสอบได้ทั้งหมด ครบถ้วนหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ พรรคฝ่ายค้าน

 

ทั้งเพื่อไทย และก้าวไกล เคยตั้งคำถามว่า กฏ 180 วันนี้ จะเกิด 2 มาตรฐานหรือไม่เพราะพรรคการเมืองซีกรัฐบาลสามารถใช้ความเป็นรัฐบาลลงพื้นที่ ทำพื้นที่หาเสียงแอบแฝงได้ โดยไม่ต้องคิดค่าใช้จ่าย แต่พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถทำได้

 

โดยยกตัวอย่างแค่ป้ายต้อนรับรัฐมนตรีต่างๆ ที่ไปปฏิบัติราชการ ก็ย่อมทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบแล้วนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกัน “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ก็ได้ชี้แจงว่า หากมีการยุบสภาเกิดขึ้น ในช่วงที่เข้าสู่ 180 วันไปแล้ว สิ่งที่ผู้สมัคร และพรรคการเมืองทำในช่วงหลัง 24 ก.ย.เป็นต้นไป จนถึงวันยุบสภา จะไม่ถูกนำไปคิดไปเป็นค่าใช้จ่าย เพราะเงื่อนเวลาการนับ วันเริ่มต้น จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้งมันต่างกัน

 

ดังนั้น จากคำชี้แจงของเลขาธิการ กกต.เหมือนเป็นตัวบ่งบอกว่า ผู้ที่ถืออำนาจอยู่ในมือ สามารถล้มกระดานการคิดค่าใช้จ่ายหาเสียงเลือกตั้งได้ ดังนั้น หากพรรคแกนนำรัฐบาล หรือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของซีกรัฐบาลใช้เงินไปจนเต็ม ตามจำนวนแล้ว ไม่สามารถใช้ได้อีก

 

ในช่วงหาเสียงโค้งสุดท้าย ก็อาจแก้เกมด้วยการยุบสภา ก่อนครบกำหนด เพื่อล้างไพ่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของช่วง 180 วัน และเริ่มนับกันใหม่หลังการยุบสภาได้นั่นเอง ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นคำตอบว่า กฎ 180 วันนี้ พรรคใดจะได้เปรียบ หรือเสียเปรียบ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube