ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ ทั้งในฝั่งเกมการเมือง และเศรษฐกิจ หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ไปต่อกับประเด็นปม 8 ปี
เพราะในฝั่งของนักลงทุนต่างจับตาดูการขับเคลื่อนมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับการลงทุนก่อนการเลือกตั้งในปีหน้า 2566 ว่าจะสะดุด หรือ จัดเต็ม สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ถึงโรดแมปเมกะโปรเจกต์ของไทย คำตอบที่ได้น่าสนใจค่ะ โดยรัฐมนตรีฯศักดิ์สยาม
บอกว่า ในวันที่ 6-7 ตุลาคม นี้ ตนและ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเดินทางไปยัง สปป.ลาว เพื่อประชุมหารือความคืบหน้าโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ซึ่งถือเป็นการลงทุนระหว่างไทย-ลาว เพื่อสนับสนุนการเดินทาง การขนส่ง ของทั้ง2 ประเทศ
ส่วนกรณีในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเกี่ยว พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอด 8 ปี ส่งผลต่อการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมหรือไม่นั้น
ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ พักปฏิบัติหน้าที่กระทรวงฯ ยังดำเนินโครงการตามปกติ และเมื่อศาลวินิจฉัยให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อ ก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการดำเนินการแต่อย่างใด ทุกอย่างยังดำเนินการปกติ ไม่มีโครงการใดชะลอ และจากการพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยและอยากให้ไทยเร่งสนับสนุนความร่วมมือด้านต่างๆ
ส่วนช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะขับเคลื่อนโครงการใดให้สำเร็จก่อนเกิดการเลือกตั้งใหม่นั้น ปัจจุบันนี้เรื่องที่เป็นปัญหากระทรวงได้แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว เห็นได้จาก การเบิกจ่ายงบลงทุนปี2565 ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ประมาณ 77% ซึ่งเกินจากเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้ 65% นั้นหมายความว่าการทำงานและการดำเนินโครงการลงทุนทำได้ดี
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ได้เร่งรัดให้หน่วยงานลงนามในสัญญาที่เป็นโครงการขนาดเล็กและมีสัญญารายการปีเดียวให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม โดยรายการผูกพันใหม่ให้ลงนามในสัญญาแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ปี2566 พร้อมทั้งจัดทำแผนการเบิกจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อสามารถเบิกจ่ายเงินให้ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล
ขณะที่ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า รัฐบาลประกาศงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป รวมเป็นวงเงินกว่า 3.185 ล้านล้านบาท
ซึ่งสูงกว่าการจัดสรรในงบประมาณประจำปี 2564 ถึง 2.7%YoY สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาครัฐได้ให้น้ำหนักความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 0.695 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 21.8% ของวงเงินงบประมาณทั้งปีซึ่งงบประมาณในการใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นด้านเศรษฐกิจ ขณะที่งบประมาณด้านสาธารณสุขเริ่มปรับตัวลดลงตามการคลี่คลายของการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่ผ่อนคลายลง
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว ถือว่าเป็นสัญญาณเชิงบวก ที่ภาครัฐได้ทยอยลดงบประมาณด้านการเยียวยา และเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการลงทุนเพิ่มขึ้นให้สอดรับกับเศรษฐกิจไทยที่กำลังจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง 2565
ขณะที่สถานะทางการเงินของประเทศยังแข็งแกร่ง โดยหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ระดับต่ำกว่ากรอบคาดการณ์ที่ 70% และนี่ก็เป็นความคืบหน้าโรดแมปเมกะโปรเจกต์ของไทย ซึ่งจากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนายกฯลุงตู่อย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขับเคลื่อน นั่นหมายถึง แรงส่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews