เงินเฟ้อยุคลุง ชะลอหรือหลอกตัวเอง
ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเดือน กันยายน 2565 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.41 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี ขยายตัวมากถึงร้อยละ 6.17 แต่กระทรวงพาณิชย์กลับมองว่า เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงแล้วเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 7.86 และมีแนวโน้มที่จะลดลงได้อย่างต่อเนื่อง
โดยนายพูนพงษ์ นัยนาภากร รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงได้อีก ซึ่งเป็นไปตามต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ในประเทศ ที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารโลกที่มีการปรับตัวลดลง ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่อาจจะมีเพิ่มมาตรการในช่วงที่เหลือของปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงได้ แต่จากความต้องการสินค้าในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับดี ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อจึงยังมีอยู่
นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลกที่ผันผวน และเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด ลดลงแต่อาจลดลงได้ไม่มากนัก จึงยังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ในกรอบร้อยละ 5.5-6.5 ใกล้เคียงกับภาคเอกชน ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.
ล่าสุดประจำเดือนตุลาคม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า ที่ประชุม กกร. คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อปีนี้จะขยายตัว ร้อยละ 6.0-6.5 และจากอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด สวนทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่อง
ในขณะที่ อัตราเงินเฟ้อในประเทศยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ค่าไฟฟ้ามีการปรับราคาจัดเก็บเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน รวมถึงการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ล้วนเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะต้องส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการต่อไป อย่างไรก็ตาม โอกาสปรับราคาสินค้าสูงขึ้นตามต้นทุนยังมีอยู่มาก แต่กระทรวงพาณิชย์กลับมั่นใจอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง จังหวะนี้ต้องเชื่อใครดี ระหว่างภาคเอกชนผู้ผลิตหรือคนเก็บข้อมูลอย่างรัฐบาล
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews