อีสานยังอ่วม! หมอห่วงหวั่นยอดครียดพุ่ง
จากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้หลายคนเกิดความเครียดโดยเฉพาะจังหวัดภาคอีสานเพราะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงเร่งช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินพื้นที่การเกษตร รวมถึงสุขภาพร่างกายสภาพจิตใจของประชาชนชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสีย
โดยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าจากสถานการณ์อุทกภัยได้ส่งทีมแพทย์ลงพื้นที่ดูแลประชาชนต่อเนื่อง มีผู้เข้ารับบริการกว่า 62,000 คน พบเจ็บป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด 14,653 คน ตามด้วยโรคผิวหนัง ผื่นคัน 2,528 คน และระบบทางเดินหายใจ 2,520 คน ส่งทีม สหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ไปดูแลเยียวยาจิตใจ จำนวน 43 ทีม มีผู้เข้ารับบริการ 21,026 คนพบผู้มีภาวะเครียด 1,554 คน จังหวัดศรีสะเกษพบสูงถึง 1,236 คน อาการซึมเศร้าพบ 192 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 คน สูงสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งหมดได้รับการดูแลแล้ว
สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นได้สัมภาษณ์พิเศษกับนพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ บอกว่าหลังจากเกิดอุทกภัยก็ได้ส่งให้ทางทีมแพทย์ลงพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความเครียดของประชาชนเนื่องจากพบว่าได้รับผลกระทบกันเป็นจำนวนมากทั้งที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งจากการประเมินผู้มาเข้ารับบริการพบว่า 10% เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าแต่ยังไม่ถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ดังนั้นจึงได้ให้คำแนะนำดูแลอย่างเต็มที่เพื่อลดความกังวล ฟื้นฟูสภาพจิตใจ
ขณะในจังหวัดมีประชาชนเจ็บป่วยโรคน้ำกัดเท้าประมาณ 50% ซึ่งนับจากคนใช้บริการเฉลี่ยวันละ 600 คน และเป็นโรคทางเดินหายใจอีก 10-20% โดยปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ ระดับน้ำลดลง ซึ่งทางจังหวัดยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ขณะภาพรวมถนนเส้นทางการสัญจรยังคงต้องใช้เรือต่อไป
พร้อมกันนั้น 10 ข้อคิดดีๆ ที่จะช่วยดูแลสุขภาพจิตช่วงน้ำท่วมจากกรมสุขภาพจิตคือ
1. ตั้งสติให้มั่น มองทุกปัญหาว่ามีทางแก้ไข
2. หากรู้สึกท้อใจ ให้ค้นหาแหล่งสร้างกำลังใจให้กับตัวเอง
3. ฝึกหายใจคลายเครียด
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง
5. พูดคุยกับคนใกล้ชิด อย่าคิดคนเดียว
6. บริหารร่างกายเป็นประจำ
7. ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา
8. มองหาโอกาสในการช่วยเหลือผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน
9. คิดทบทวนสิ่งดีๆ ในชีวิตเป็นประจำทุกวัน
10. จัดการปัญหาทีละขั้นทีละตอน ทำในสิ่งที่ทำได้สร้างความรู้สึกสำเร็จเล็กๆ จากสิ่งที่ทำ ไม่จมไปกับปัญหาที่ยังแก้ไขอะไรไม่ได้
หลีกเลี่ยงการใช้สุราหรือสารเสพติดในการจัดการความเครียด ความทุกข์ใจทั้งนี้หากไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อการรักษา เพราะความเครียดรุนแรงนำไปสู่โรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันหลายจังหวัดยังคงประสบกับปัญหาอุทกภัย ทำให้ได้รับผลกระทบเสียหายเป็นจำนวนมากซึ่งเจ้าหน้าที่ก็เร่งสำรวจช่วยเหลือให้ครอบคลุมที่สุดและดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อบรรเทาความเครียดของประชาชน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews