เมื่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน พุ่งสูงสุดในรอบ 8 เดือนและมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาอยู่ที่ระดับ 44.6
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 และเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน
ทั้งโครงการคนละครึ่งเฟส 5 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การเห็นชอบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม การผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศและยกเลิกระบบ ThailandPass
สำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงการยกเลิก พ.ร.กฉุกเฉิน ปรับระดับพื้นที่เป็นสีเขียวทั้งประเทศ ทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนใกล้เคียงกับปกติ ซึ่งเป็นผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยวตลอดจนภาคธุรกิจและภาคบริการต่างๆ การส่งออกขยายตัว ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการมีราคาสูงขึ้น ล้วนเป็นผลดีทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น
แต่เมื่อพิจารณาลงลึก ดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงมองสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมปัจจุบันยังฟื้นตัวช้าจากวิกฤตโควิด 19 ทั้งในประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเป็นการซ้ำเติมส่งผลต่อจิตวิทยาในเชิงลบ ที่ห่วงว่าจะมีสถานการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามการโจมตีอีกครั้ง และอีกปัญหาสำคัญคือปัญหาการเมืองภายในประเทศ แม้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะได้รับการพิจารณาแล้วว่าให้สามารถทำหน้าที่ต่อได้ แต่หลายคนยังมีความกังวลว่า
จากนี้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ จะมีผลต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ ถ้าเกิดความขัดแย้ง เกิดการชุมนุมหรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงใกล้การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของประเทศไทย ความสงบ เรียบร้อย ราบรื่น และการตอบรับเข้าร่วมประชุมของผู้นำประเทศ จะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและเป็นที่ยอมรับในสายตานานาประเทศแค่ไหน
ไม่ต่างอะไรกับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนกันยายน ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นกัน โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.
บอกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนกันยายน ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 91.8 แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับ 100 สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ไม่ปกติ ความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซธรรมชาติ และค่าไฟฟ้า รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งสินค้า ด้านการส่งออกความต้องการในตลาดโลกเริ่มชะลอลง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป
ที่สุดแล้วจากปัญหาต่างๆ คงต้องจับตาดูว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน รัฐบาลจะแก้ไขสถานการณ์รับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือจะติดกับดักทางการเมืองของตัวเองจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประเทศได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews