ปลดล็อกต่างชาติซื้อที่กระตุ้นเศรษฐกิจ / ขายชาติ
กระแสขายชาติกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง หลังจากคณะรัฐมนตรีไฟเขียวร่างกฎกระทรวงให้ต่างชาติถือครองที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ ไม่เกิน 1 ไร่ เงื่อนไขลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ใน 3 ปี มีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ซึ่งเป็นไปตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ
โดยภาคเอกชน มองว่า รัฐบาลเจตนาดีแต่ต้องมีผลศึกษาที่รอบคอบและอธิบายให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันได้ ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือแตกแยกภายในประเทศ
ซึ่งนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ในปีหน้าปัจจัยที่จะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจของไทย นอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพราะหลังจากนี้โลกจะมีการแบ่งขั้วชัดเจนขึ้น หลายประเทศมหาอำนาจอาจต้องแสวงหาที่ลงทุนใหม่
หากไทยสามารถแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกดึงดูดให้อยากมาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่มีความพร้อม จะยิ่งทำให้มีเม็ดเงินจากการลงทุนไหลเข้าประเทศมากขึ้น โดยประเทศไทยต้องปรับตัวให้เป็นที่สนใจ
ซึ่งภาคเอกชน มองว่า การถือครองอสังหาริมทรัพย์ในไทยของชาวต่างชาติจะเป็นตัวแปลที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น หากสามารถครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้ในระดับหนึ่งจะทำให้มีเงินสะพัดมากมากขึ้น จากความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุน
แต่การปลดล็อกถือครองที่ดิน ที่รัฐบาลมีคำสั่งให้ครอบครองที่ดินได้แบบมีเงื่อนไขนั้น มองว่า เป็นมาตรการขั้นต้นที่ยังปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้อีก โดยหอการค้าไทยเวลานี้ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยของสถาบันการศึกษา
ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางกำลังศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ คาดว่าจะออกมาชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ ว่าทำอย่างไรให้อสังหาริมทรัพย์เป็นตัวสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทั้งประเทศ ทำให้เกิดมีความเข้าใจไม่ให้เป็นอุปสรรคในการดึงดูดการลงทุน โดยจะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งนักลงทุนที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนจะประเทศจีน ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และอินเดีย และสำหรับประเทศจีนนั้น
ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ จะมีการจัดงาน “Thailand-China Investment Forum” ที่โรงแรมแชงกรี-ลา เพื่อนำเสนอผลการศึกษาเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนปัญหา อุปสรรค และแนวทางที่รัฐบาลทั้งสองประเทศต้องช่วยเหลือและให้การสนับสนุนต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews