นับถอยหลังก้าวสู่ปี 2566 ปีแห่งการลงทุนเมกะโปรเจกต์ที่มาพร้อมกับความท้าทาย หลังจากในช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในหลายโครงการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
แต่ในวันนี้สถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายแล้ว และเพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนในประเทศหนุนให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว รัฐบาลจึงเดินหน้าอย่างเต็มที่
กระทรวงคมนาคม ถือเป็นกระทรวงหลักที่ขับเคลื่อนเรื่องการลงทุน โดยในปี 2566 มีหลายโครงการใหญ่ที่รออยู่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” บอกกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ในปี 2566 กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะพัฒนาโครงการ โครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง และโครงการใหม่ วงเงินลงทุน 311,483.56 ล้านบาท ส่วนที่มาของแหล่งเงินนั้น ประกอบด้วย งบประมาณแผ่นดิน 201,510.96 ล้านบาท คิดเป็น 64.96% รองลงมาคือ วงเงินกู้ 44,087.01 ล้านบาท คิดเป็น 14.15%
โครงการใหม่ที่จะเร่งรัดลงทุนในปี 2566 อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) (M5) ระยะทาง 22 ก.ม. วงเงินลงทุน 28,700 ล้านบาท มอเตอร์เวย์สาย M9 วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 36 ก.ม. วงเงินลงทุน 56,035 ล้านบาท ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 ก.ม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา (M7) ระยะทาง 1.92 ก.ม. วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท ทางพิเศษ ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 ก.ม. วงเงินลงทุน 30,896 ล้านบาท และช่วงกระทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 ก.ม. วงเงินลงทุน 14,470 ล้านบาท
อีกทั้งยังมีโครงการแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (เอ็มอาร์ แม็ป) สะพานเชื่อมเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โครงการแลนด์บริจด์ ชุมพร-ระนอง โครงการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เป็นต้นโดยปัจจุบันหลายโครงการใหม่มีสถานะอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ
ขณะเดียวกันกระทรวงได้เร่งรัดพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 14 เส้นทาง 554 กิโลเมตร ซึ่งในจำนวนนี้ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 สาย ได้แก่ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2566 และช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี อยู่ระหว่างก่อสร้าง สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คาดว่าเปิดให้บริการในเดือนเมษายน 2566 และช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน อยู่ระหว่างเจรจากับผู้รับสัมปทาน สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี คาดเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2568 และแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ พญาไท-ดอนเมือง อยู่ระหว่างก่อสร้างคาดว่าเปิดให้บริการได้ในเดือนมกราคม 2571
นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ทางคู่ระยะเร่งด่วน จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 ก.ม. ทางรถไฟสายใหม่ จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 681 ก.ม. ได้แก่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งทั้ง 2 เส้นทาง อยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะที่ทางคู่ระยะที่ 2 (พ.ศ.2565-2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,483 ก.ม. และยังมีอีกหลายโครงการก่อสร้างที่รัฐบาลเตรียมลงทุนในปี2566 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างการลงทุนในประเทศ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้
และทั้งหมดนี้ ก็คือโรดแมปแผนลงทุนขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ท้าทายและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews