น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2565 ที่สภาพัฒน์จะประกาศในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 21 พ.ย. เพราะตัวเลขจีดีพีย่อมสะท้อนถึงแก่นแท้ทางเศรษฐกิจ และฝีไม้ลายมือการบริหารประเทศของ “นายกฯลุงตู่” ในห้วงจังหวะที่เศรษฐกิจโลกในหลายๆ ประเทศเดินหน้าเข้าสู่ภาวะ Recession หรือ ถดถอย
ล่าสุด WTO ได้ออกมาเตือน ว่า ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายแห่งมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยคาดการณ์ว่า การค้าทั่วโลกจะขยายตัวเพียงแค่ 1% ในปี 2566 ปรับลดลงมาจากปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากผลกระทบจากการทำสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ประเมิณว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2565 ที่สภาพัฒน์ จะประกาศในวันที่ 21 พ.ย. นี้ เชื่อว่าจะขยายตัวเกิน 3% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ 2.5% และไตรมาส 1 ปีเดียวกันที่ 2.2% ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการของแบงก์ชาติ ทั้งปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.3% ซึ่งยังห่างไกลกับคำว่า Recession
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ถาม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด “ดร.เชาว์ เก่งชน” ถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทย โดยเขามองว่า เศรษฐกิจไทยยังโตดี ครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.5% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 2.4% ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
ซึ่งหากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคน และ ปีหน้าที่ 20 ล้านคน ก็ยังสามารถที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขึ้นไปแตะที่ 40 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขก่อนเกิดโควิด-19 ได้ ดังนั้นเมื่อการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ก็จะดันให้จีดีพีโตขึ้นได้ แต่สำหรับภาคการส่งออก ยอมรับว่า ยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยนั้น “ดร.เชาว์” กล่าวว่า ยังคงมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนไปอีกสักระยะ
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เชื่อมั่นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยกรรมการ IMF ได้กล่าวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ซึ่งได้ชื่นชมการบริหารจัดการนโยบายการคลังของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ โดยที่เงินกู้ของรัฐบาลเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของสกุลเงินบาททำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งตัว และสนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่ง IMF พร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทย กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงและอาเซียนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3ปี 2565 และภาพรวมครึ่งปีแรกที่สภาพัฒน์จะประกาศออกมาอย่างใกล้ชิด เพราะทั้งหมดนี้จะสะท้อนถึงการบริหารงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews